กีฏวิทยา

ไหมอีรี่นวัตกรรมและทางเลือกเพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจของชุมชนอย่างยั่งยืน

Eri Silkworm:  The Innovation and Alternative for Supporting the Community’s Sustainable Economy

ลักษณะเด่นของผลงาน

การวิจัยนี้เป็นการศึกษาไหมอีรี่อย่างครบวงจรเพื่อสร้างเสริมทางเลือก รายได้ และเศรษฐกิจของชุมชนอย่างยั่งยืน ด้วยการเลี้ยง การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการสร้างนวัตกรรม ผนวกเข้ากับภูมิปัญญาในท้องถิ่น จากการเพาะเลี้ยงไหมบ้าน โดยการศึกษาวิจัย พบว่า สามารถใช้ใบมันสำปะหลัง ใบมันลาย โดยเก็บใบมันสำปะหลังจำนวนไม่เกิน 30% ของทั้งต้น ทำให้ผลผลิตหัวมันสำปะหลังลดลงเล็กน้อยหรือไม่ลดลงเลย แต่ได้ใบมันมาเลี้ยงไหมอีรี่ด้วย อีกทั้งได้คัดเลือกปรับปรุงพันธุ์ไหมอีรี่จนได้สายพันธุ์ (ecorace) ในส่วนการพัฒนาเพื่อผลิตเส้นไหมอีรี่นั้นได้สร้างเครื่องต้นแบบเพื่อสาวรังไหมอีรี่ (อนุสิทธิบัตรเลขที่ 2075) และได้พัฒนาต่อเนื่องเป็นทั้งเครื่องแบบสาวและสปันซิลค์  และได้พัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอไหมอีรี่อย่างหลากหลาย  จนสามารถจดทะเบียนมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) ได้ถึง 10 มาตรฐาน ขณะเดียวกันได้พัฒนาจนได้ผลิตภัณฑ์ OTOP ดาวรุ่ง ซึ่งเป็นอาหารแปรรูปจากไหมอีรี่ที่เป็นต้นแบบนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากไหมอีรี่ได้มากชนิด  เช่น ด่วน มข., แซ่บ  มข., ซาลาเปาไส้อีรี่,  ซูชิ-อีรี่ หลากรสชาติ ฯลฯ ซึ่งได้ทรัพย์สินทางปัญญาด้านอาหารแล้ว 12 อนุสิทธิบัตร ตลอดจนสามารถใช้เป็นอาหารปลาสวยงามซึ่งมีราคาแพงได้  ส่วนการนำไหมอีรี่มาเพาะเลี้ยงถั่งเฉ้าเพื่อเพิ่มมูลค่าสูงนั้น กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ โดยในเบื้องต้นประสบความสำเร็จทั้งถั่งเฉ้าสีทองและถั่งเฉ้าหิมะ  ซึ่งจัดเป็นรายงานครั้งแรกของประเทศไทย ในการวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์จากเศษเหลือทิ้งนั้น ได้วิธีการใช้มูลไหมอีรี่ในการควบคุมโรคเหี่ยวในมะเขือเทศ การใช้ประโยชน์จากน้ำต้มกาวไหมอีรี่เป็นส่วนผสมของเครื่องสำอาง (จำนวน 4 อนุสิทธิบัตร) ตลอดจนได้นำน้ำต้มกาวไหมอีรี่ไปผลิตมวลชีวภาพเชื้อแบคทีเรีย Bacillus thuringiensis สำหรับกำจัดแมลงศัตรู และ B. subtilis สำหรับกำจัดโรคพืช รวมทั้งกำจัดเชื้อแบคทีเรียสาเหตุโรคของคน เป็นต้น

การนำไปใช้ประโยชน์หรือผลกระทบที่ได้รับจากการถ่ายทอด

                สำหรับการนำไปใช้ประโยชน์ในการสร้างเสริมรายได้และสู่พาณิชย์นั้น ได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อบริการวิชาการแก่ชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง  จนนำไปสู่การเกิดหมู่บ้านต้นแบบในการเพาะเลี้ยงและหมู่บ้านการผลิตผลิตภัณฑ์ไหมอีรี่ ในจังหวัดต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดขอนแก่น สามารถสร้างเสริมรายได้อย่างชัดเจน เช่น หมู่บ้านดงและหมู่บ้านขามป้อม ต.หนองแซง อ.บ้านแฮด, บ้านหินลาด อ.เมือง จ.ขอนแก่น เป็นต้น โดยเกษตรกรมีรายได้จากการขายดักแด้ รังไหม และเส้นไหม  ส่วนหมู่บ้านหนองหญ้าปล้อง อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น มีการผลิตผลิตภัณฑ์สิ่งทอไหมอีรี่ (หัตถอุตสาหกรรม) จำหน่ายในเชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรมตลอดปี ในส่วนผลิตภัณฑ์อาหารมีการจำหน่ายดักแด้ทอดกรอบในตลาดแมลงหลายแห่ง  รวมทั้งตลาดนัด มข. (ศาลา 25 ปี) นอกจากนั้น มีผู้ประกอบการ (ภูฟาร์ม จ.กาฬสินธุ์) ซึ่งได้ต่อยอดผลิตหนอนและดักแด้ไหมอีรี่บรรจุกระป๋องจำหน่าย สำหรับอุตสาหกรรมโรงงานนั้น บริษัท สปันซิลค์เวิล์ด จรูญไหมไทย และขอนแก่นสาวไหม ได้มีการพัฒนาการผลิตเส้นไหมและผลิตภัณฑ์สิ่งทอไหมอีรี่ และรับซื้อรังไหมอีรี่จากเกษตรกรเพื่อการส่งออก ซึ่งมีความต้องการรังไหมอีรี่อย่างต่อเนื่องโดยไม่จำกัดปริมาณ ทำให้เกษตรกรมีรายได้จากการเพาะเลี้ยงไหมอีรี่อย่างยั่งยืน

ในส่วนการเผยแพร่งานวิจัยไหมอีรี่ในวารสาร การประชุมวิชาการ การเผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ การเป็นวิทยากร อีกทั้งร่วมเขียนตำราข้อมูลทางวิชาการ การจัดนิทรรศการวิชาการ การถ่ายทอดเทคโนโลยีโดยการฝึกอบรมและให้คำปรึกษาให้ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ การจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา การได้รับรางวัลจากการวิจัยและจัดนิทรรศการหลายรางวัล อาทิ รางวัลงานวิจัยเด่นจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ประจำปี 2555 ซึ่งผู้วิจัยเป็นหัวหน้าโครงการและผู้ร่วมวิจัยในชุดโครงการ การพัฒนาไหมอีรี่สู่อุตสาหกรรม รางวัลนักวิจัยดีเด่นด้านทรัพย์สินทางปัญญา ประจำปี 2553 (คณะเกษตรศาสตร์ มข.)  รางวัลการนำเสนอผลการวิจัยทั้งระดับชาติและนานาชาติ  รางวัลในการจัดนิทรรศการและถ่ายทอดเทคโนโลยีในงาน Regional Research Expo ครั้งที่ 1 (2013) และงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ (Thailand Research Expo 2013) (รางวัล “Bronze Award”) โดยสรุปผลงานวิจัยนี้เป็นพื้นฐานองค์ความรู้นำไปสู่การสร้างเสริมรายได้ให้แก่เกษตรกร จนเกิดหมู่บ้านต้นแบบไหมอีรี่เพื่อเป็นทางเลือกและสร้างเสริมความยั่งยืนของรายได้สู่ชุมชนได้อย่างดีอีกทางหนึ่ง

   หนอนไหมอีรี่

  อุตสาหกรรมโรงงาน(บ.Spunsilk World Ltd.)

  หนอนไหมอีรี่รสโบราณ(ด่วน มข.) อนุสิทธิบัตร เลขที่ 2664

อาหารแปรรูปเพื่อสุขภาพ (ซาลาเปาอีรี่ถั่งเฉ้า)

แมลงกินได้ Edible insects

ลักษณะเด่นของผลงาน

งานวิจัยนี้ ได้มีการส่งเสริมการอนุรักษ์แมลงกินได้ การทำฟาร์มเพาะเลี้ยงแมลงกินได้ ตลอดจนการแปรรูปจากแมลงกินได้เพื่อเป็นอาหารโปรตีนและเพิ่มรายได้แก่เกษตรกร ซึ่งทำให้ปัจจุบันมีเกษตรกรรู้จักการทำฟาร์มเพาะเลี้ยงจิ้งหรีด และเรียนรู้การนำใช้แมลงกินได้จากธรรมชาติอย่างยั่งยืน นอกจากได้การริเริ่มการพัฒนากระบวนวิชาการเพาะเลี้ยงแมลงกินได้เศรษฐกิจสำหรับหลักสูตรปริญญาตรีให้กับคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติ สปป. ลาว และปัจจุบัน ได้มีการขยายผลโครงการการเพาะเลี้ยงแมลงกินได้ให้กับประเทศเคนยาในทวีปอัฟริการภายใต้ GREEINSECT Project

อนึ่งสำหรับแมลงกินได้ของในประเทศไทยนั้นได้พัฒนาเป็นระดับธุรกิจแล้ว มีมูลค่ามหาศาลเฉลี่ย 750 ล้านบาท/ปี โดยเฉพาะจิ้งหรีด มีผู้ประกอบธุรกิจทำฟาร์มเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดประมาณ 20,000 ราย นับเป็นอาชีพที่มั่นคงและมีความยั่งยืนแต่ปัจจุบันนี้ เกษตรกรประสบปัญหาต้นทุนที่สูงเพราะใช้อาหารสำเร็จรูปที่มีราคาแพง ดังนั้นจึงได้พัฒนางานวิจัยในการพัฒนาสูตรอาหารธรรมชาติที่ถูกลงสำหรับลดต้นทุนการผลิต โดยนำพืชอาหารชนิดต่างๆในท้องถิ่นที่มีราคาถูก และวัสดุที่หาได้ง่าย ซึ่งทำให้สามารถช่วยลดต้นทุนให้เหลือ ประมาณ 30% นอกจากนี้ ได้พัฒนาการเพิ่มมูลค่าจิ้งหรีดด้วยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆที่นอกเหนือจากจากทอดขายทั่วไป ทั้งยังเป็นการสร้างองค์ความรู้ไปพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารจากจิ้งหรีด นอกจากนี้ ได้มีการศึกษาการตลาดของแมลงกินได้และนำมาวิเคราะห์ถึงความยั่งยืนในธุรกิจนี้ พบว่า เป็นธุรกิจใหม่ที่ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคมากขึ้นทั้งในไทยและต่างประเทศ ทำให้มีการดำเนินงานวิจัยเกี่ยวกับมาตรฐานการผลิต การแปรรูป และการเก็บรักษา ให้เป็นมาตรฐานสำหรับการควบคุมทั้งกระบวนการผลิตเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือแก่ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ

การนำไปใช้ประโยชน์

เกษตรกรสามารถนำไปปฏิบัติใช้ได้จริงจากการเผยแพร่องค์ความรู้โดยการอบรมการแปรรูปอาหารจากแมลงในโครงการบริการวิชาการจามแนวพระราชดำริ ซึ่งได้รับความสนใจจากกลุ่มแม่บ้าน และเกษตรกรเป็นอย่างมากนอกจากนี้ องค์การ FAO (Food and Agriculture Organization of The United Nations) ได้ให้ความสนใจ และสนับสนุนให้ประชากรทั่วโลกหันมาบริโภคแมลงเป็นโปรตีนทางเลือกอีกชนิดหนึ่ง และส่งเสริมการทำฟาร์มเพาะเลี้ยงแมลงกินได้ให้กับประเทศกำลังพัฒนาที่ขาดแคลนอาหารโปรตีน

ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากจิ้งหรีด

              

ข้าวเกรียบ                                               น้ำพริก                                                    คุกกี้                                              เส้นบะหมี่                                        ไส้กรอก

   

เส้นสปาเก็ตตี้                                          เส้นขนมจีน

แบบจำลองการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล Modeling an outbreak of brown planthopper, Nilaparvata lugens  STAL.

(Homoptera: Delphacidae)                

ลักษณะเด่นของผลงาน

คณะผู้วิจัยได้สร้างแบบการจำลองการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลจากข้อมูลวงจรชีวิตของแมลงและข้อมูลสารสนเทสด้านภูมิอากาศ การจำลองใช้วิธีการคำนวณสถานะและอัตราการเปลี่ยนแปลงของตัวแปร และความต้องการความร้อนสะสมในแต่ละระยะการพัฒนาการของแมลงเป็นตัวแปรขับเคลื่อน ผลจากการจำลอง ทำให้ทราบระยะการพัฒนาการและจำนวนของแมลง การทดสอบแบบจำลองโดยเปรียบเทียบข้อมูลจากการพยากรณ์กับข้อมูลสำรวจ พบว่า ผลการจำลองที่มีความเชื่อมั่นได้ดีสมควร การจำลองการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ช่วยเกษตรกรในกระบวนการตัดสินใจ จัดการเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

การนำไปใช้ประโยชน์หรือผลกระทบที่ได้รับการถ่ายทอด

ปัจจุบัน คณะผู้วิจัยได้ดำเนินการฝึกอบรมถ่ายเทคโนโลยีการสร้างแบบจำลองและการพยากรณ์สถานการณ์ให้เกษตรกรและผู้นำชุมชน และหน่วยงานราชการได้นำไปไปใช้