พืชไร่

เครื่องลดความชื้นเมล็ดพันธุ์ด้วยอากาศแห้งและการหมุนเหวี่ยง Rotary Modified Dried Air Seed Dryer

ลักษณะเด่นของผลงาน

เป็นเครื่องลดความชื้นเมล็ดพันธุ์ที่ประหยัดพลังงานโดยการใช้อากาศหมุนเวียนในการลดความชื้นด้วยลมความชื้นต่ำ  สามารถลดความชื้นเมล็ดพันธุ์หลายๆ ชนิดได้พร้อมกันในทุกสภาพอากาศ เหมาะกับการลดความชื้นเมล็ดพันธุ์ที่มีมูลค่าสูง เช่น เมล็ดพริก มะเขือเทศ  แตงกวา แตงโม  และเมล็ดพันธุ์ดอกไม้ต่างๆ เป็นต้น

การนำไปใช้ประโยชน์ หรือผลกระทบที่ได้รับการถ่ายทอด

1) เกษตรกรนำเครื่องไปลดความชื้นเมล็ดพันธุ์ในแหล่งผลิตหรือในหมู่บ้านได้ ทำให้ลดการสูญเสียคุณภาพของเมล็ดพันธุ์โดยเฉพาะเมล็ดมะเขือเทศ และ แตง ปีละ ไม่น้อยกว่า 10-15 ล้านบาท

2) ผลกระทบในเชิงวิชาการ ได้เปลี่ยนวิธีการลดความชื้นด้วยอุณหภูมิสูง (วิธีการเดิม) ซึ่งเร่งอัตราการหายใจของเมล็ดผลทำให้เมล็ดพันธุ์มีอายุการเก็บรักษาสั้น มาใช้วิธีการแบบลมแห้งอุณหภูมิต่ำเมล็ดพันธุ์ จึงเก็บได้นาน  ความงอก และความแข็งแรงดีขึ้น

3) ผลกระทบสภาพแวดล้อม ใช้ลมที่มีความชื้นสัมพัทธ์ต่ำมาลดความชื้นเมล็ดพันธุ์ และการหมุนเวียนอากาศทำให้ประหยัดพลังงาน ใช้เวลาในการลดความชื้นเมล็ดพันธุ์สั้นลง

4) ผลกระทบ ในเชิงการประดิษฐ์ และเศรษฐศาสตร์ เครื่องที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่ราคาต่ำกว่าเครื่องจากต่างประเทศประมาณ 4-5 เท่า ใช้วัสดุส่วนใหญ่ภายในประเทศ  ไม่มีปัญหาอะไหล่ และการซ่อมบำรุง

5) ผลกระทบเชิงพาณิชย์ การวิจัย มีบริษัทยูแมคไซ แอนทิฟิค จำกัด เป็นผู้ผลิตเครื่องลดความชื้น โดยมีบริษัท เซเรสอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด  เป็นผู้จัดจำหน่าย ดูแลการขาย เครื่อง มีบริษัทผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ และเกษตรกรเป็นผู้ใช้เครื่อง

เอกสารประกอบผลงาน

Model SKK 09

Model SKK 01

Model SKK 02

การวิจัยและพัฒนาแก่นตะวันเพื่อเป็นอาหารสุขภาพ Jerusalem artichoke Improvement for Functional Food

ลักษณะเด่นของผลงาน

จากการวิจัยแก่นตะวัน ได้ทดสอบเชื้อพันธุกรรมและเปรียบเทียบพันธุ์ ได้แนะนำพันธุ์แก่นตะวัน 3 พันธุ์ คือ แก่นตะวันเบอร์ 1 แก่นตะวันเบอร์ 2 และแก่นตะวันเบอร์ 3 โดยเฉพาะ แก่นตะวันเบอร์ 2 เป็นพันธุ์ที่เกษตรให้การยอมรับเป็นอย่างดีในการใช้เป็นพันธุ์ปลูก ปัจจุบัน ทีมงานวิจัยแก่นตะวัน ภายใต้ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้วิจัยและปรับปรุงพันธุ์แก่นตะวันพันธุ์ใหม่ ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง 4,164 กิโลกรัมต่อไร่ ลักษณะหัวใหญ่ มีแขนงน้อย รสชาติหวาน

การนำไปใช้ประโยชน์/หรือผลกระทบที่ได้รับการถ่ายทอด

จากคุณสมบัติที่ดีเด่นของอินนูลิน (inulin) ที่มีอยู่ในหัวแก่นตะวัน ทำให้ภาคเอกชนให้ความสนใจนำผลผลิตแก่นตะวันไปใช้เป็นวัตถุดิบ และสกัดสารอินนูลิน สำหรับ การผลิตเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ และผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพ ปัจจุบัน มีทั้งภาครัฐ และเอกชนจำนวนมาก โดยมีการปลูกในพื้นที่ จ. นครราชสีมา ชัยภูมิ ขอนแก่น สระบุรี สิงห์บุรี ฯลฯ ที่ได้นำพันธุ์แก่นตะวันที่ปรับปรุงพันธุ์ โดยคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ไปใช้เป็นพันธุ์ปลูก เป็นการใช้พันธุ์แก่นตะวันที่เกิดจากงานวิจัยในการสร้าง และพัฒนาระบบการผลิต เพื่อเป็นการค้า และอุตสาหกรรม ด้วยการทำงานอย่างมุ่งมั่น จนถึงขณะนี้ เยรูซาเลมอาติโชค ซึ่งได้เปลี่ยนชื่อในภาษาไทยว่า “แก่นตะวัน” โดยนักวิจัยของมหาวิทยาลัยขอนแก่น จนเป็นที่รู้จักของคนไทยทั่วประเทศ ถึงขณะนี้ มีพันธุ์แก่นตะวันพันธุ์ดีที่ให้ผลผลิตสูงและสม่ำเสมอ สำหรับใช้หัวสดบริโภคและใช้ในอุตสาหกรรม  รวมทั้ง เทคโนโลยีการผลิตเพื่อให้ได้ผลผลิตสูงและคุณภาพดี ที่ได้รับการถ่ายทอดแก่เกษตรกรผู้สนใจนำไปปลูกเป็นการค้าจำนวนมาก

 

ลักษณะประจำพันธุ์  “ แก่นตะวัน50-4”

ลำต้นสีเขียว แตกกิ่งน้อย               ดอกสีเหลือง                             กลีบดอกรีปลายแหลม                                 หัวขนาดใหญ่ แขนงน้อย

เทคโนโลยีไส้เดือนดินบทบาทสำคัญต่อการฟื้นฟูคุณภาพของทรัพยากรดินและสิ่งแวดล้อม

Earthworm: Vermiculture Technology:

An Eco-Tool inSustainable Waste Management and Land Resources Rehabilitation in Thailand

ลักษณะเด่นของผลงาน

ไส้เดือนดินเป็นตัวชี้วัดทางชีวภาพ และมีบทบาทสำคัญต่อการฟื้นฟูคุณภาพของทรัพยากรที่ดิน และสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ การผลิตปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนดิน ยังเป็นการจัดการของเสีย ส่งผลดีต่อดิน เพิ่มผลผลิตพืช และยังปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมและลดสารพิษตกค้างขึ้น จากการวิจัยและศึกษาไส้เดือนดินกับสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 5-6 ปีในพื้นที่จริง เปรียบกับพื้นที่ที่ใช้สารเคมีการเกษตร รวมทั้ง พื้นที่ป่าในบริเวณใกล้เคียง แต่ใช้ไส้เดือนท้องถิ่น สายพันธุ์ “เพอริทิม่า” ซึ่งมีลำตัวขนาดใหญ่ เป็นตัวปรับสภาพดิน พบว่า ขุย ซึ่งเป็นมูลของไส้เดือนชนิดนี้ มีธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์กับพืช โดยเฉพาะธาตุฟอสฟอรัสสูงมาก ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสภาพดิน ทำให้คุณสมบัติทางเคมีกายภาพ และชีวภาพของดินดีขึ้น และในพื้นที่การเกษตร ที่มีความแห้งแล้ง โดยเฉพาะภาคอีสาน ที่ส่วนใหญ่จะขาดธาตุฟอสฟอรัส นอกจากนี้ โครงการวิจัยนี้ ยังได้ทำการวิจัยในด้านต่างๆเพื่อศึกษาการใช้ไส้เดือนดิน เป็นตัวชี้ทางชีวภาพเพื่อวัดผลกระทบของมลพิษสิ่งแวดล้อมอีกด้วย และพัฒนามาใช้ในการศึกษาทางนิเวศพิษวิทยาทางดิน (Ecotoxicology and Ecological Risk Assessment)

การนำไปใช้ประโยชน์/หรือผลกระทบที่ได้รับการถ่ายทอด

งานวิจัยเทคโนโลยีการผลิตปุ๋ยหมักไส้เดือนดิน ได้เผยแพร่ให้กับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เทศบาลต่างๆ นำเอาไปเป็นต้นแบบการจัดการของเสียในแต่ละอำเภอ และจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีการใช้กากของเสียสิ่งเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมการเกษตรมาพัฒนาปรับปรุงเป็นปุ๋ย โดยนำกากของเสียมาทำเป็นปุ๋ยหมักอินทรีย์และปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพ และทำการวิจัยพัฒนาสูตรและวิธีการ เทคโนโลยีปุ๋ยหมักโดยไส้เดือนดิน ที่มีคุณภาพสูง ไม่มีการปนเปื้อนสารพิษ เพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการทำการเกษตรที่อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ เกษตรกรและชุมชนต้นแบบสามารถนำปฏิบัติได้จริง และเผยแพร่ให้ความรู้กับสมาชิกชุมชน เป็นการผลิตพืชที่ยั่งยืน ต้นทุนการผลิตต่ำ ได้ผลผลิตดี และได้ปุ๋ยอินทรีย์ที่มีคุณภาพสูง

การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตข้าวหอมมะลิในระดับเกษตรกร

Improvement of Production Efficiency of Hom Mali Rice at the Farm Level

ลักษณะเด่นของผลงาน

ได้คิดค้นวิธีการแบ่งเขตพื้นที่การผลิต (zone) และเขตการผลิตย่อย (sub-zone) ของข้าวหอมมะลิตามระดับความเหมาะสมที่แตกต่างกัน (มาก ปานกลาง น้อย) โดยใช้ชนิดของสัณฐานภูมิประเทศและคุณลักษณะที่สำคัญบางประการของดินเป็นเกณฑ์ และสามารถคำนวณขนาดเนื้อที่ของแต่ละเขตการผลิตและเขตการผลิตย่อยในระดับตำบล อำเภอ และจังหวัดได้

รู้ความแตกต่างระหว่างผลผลิตที่ได้จริง (actual yield) ในสภาพปัจจุบันและผลผลิตตามศักยภาพ (potential yield) ที่จะสามารถเพิ่มได้ของแต่ละเขตพื้นที่การผลิตย่อยประเมินโดยการใช้แบบจำลองการเจริญเติบโตพืช ORYZA-W ซึ่งถ้ามีความแตกต่างมากโอกาสที่จะเป็นไปได้ในการยกระดับผลผลิตให้สูงขึ้นก็จะมีมาก

กำหนดคำแนะนำเทคโนโลยีเพิ่มผลผลิตข้าวหอมมะลิที่เหมาะสมเฉพาะเจาะจงในแต่ละเขตพื้นที่การผลิตย่อยตามเงื่อนไขของปัญหา ข้อจำกัด และศักยภาพจึงมีโอกาสเป็นไปได้สูงในการเพิ่มผลผลิต

 

การนำไปใช้ประโยชน์/หรือผลกระทบที่ได้รับการถ่ายทอด

ได้มีการถ่ายทอดวิธีการแบ่งเขตพื้นที่การผลิตและเขตการผลิตย่อยรวมทั้งคำแนะนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการเพิ่มผลผลิตข้าวหอมมะลิในแต่ละเขตการผลิตย่อย สู่เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรระดับอำเภอเพื่อนำไปถ่ายทอดสู่เกษตรกรในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดร้อยเอ็ด สุรินทร์ มหาสารคาม และอุบลราชธานี

การปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดรับประทานฝักสด

Vegetable Corn Breeding Program

ลักษณะเด่นของผลงาน

งานวิจัยของโครงการปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดรับประทานฝักสด มีลักษณะเป็นการทำงานเชิงรุกเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ให้ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภครุ่นใหม่ในอนาคต  โดยจะมุ่งเน้นการสร้างพันธุ์ผสมเปิดสำหรับเกษตรกรรายย่อย เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำไปใช้เพาะปลูกและเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เองได้ และให้ภาครัฐและเอกชนนำไปใช้เป็นเชื้อพันธุกรรมในโครงการปรับปรุงพันธุ์ของหน่วยงาน นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาสายพันธุ์แท้ สำหรับใช้สร้างพันธุ์ลูกผสมพันธุ์ใหม่  ที่มีลักษณะหลากหลาย ได้แก่ สีเมล็ด ทั้งสีเดียว และหลายสีในฝักเดียวกัน (ขาว เหลือง ม่วง ขาวสลับเหลือง ขาวสลับม่วง เหลืองสลับม่วง และขาวเหลืองม่วง เป็นต้น ขนาดฝัก (ใหญ่ กลาง และเล็ก) รูปทรงฝัก และการเพิ่มคุณภาพในการบริโภคโดยการใช้ประโยชน์จากยีนร่วม นอกเหนือจากกิจกรรมข้างต้นแล้ว ยังได้เริ่มพัฒนาพันธุ์ที่มีสารพฤกษเคมีสูง อาทิ แอนโทไซยานิน และแคโรทีนอยด์   เพื่อใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เพิ่มมูลค่าให้กับพันธุ์พืช   โดยทำการวิจัยแบบบูรณาการกับนักวิจัยในหลายสาขา เช่น  ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีการอาหาร และเภสัชศาสตร์ เป็นต้น สำหรับ การเผยแพร่เพื่อใช้ประโยชน์จากสายพันธุ์แท้ และพันธุ์ลูกผสมในการผลิตเชิงการค้านั้น และมีการทำสัญญาข้อตกลงความร่วมมือกับหน่วยงานผู้ประสงค์จะนำไปใช้ประโยชน์

ผลการดำเนินงานวิจัยของโครงการฯ ได้พัฒนาพันธุ์ข้าวโพดข้าวพันธุ์ผสมเปิด 2 พันธุ์ คือ พันธุ์สำลีอีสาน มีลักษณะฝักใหญ่ ใบเขียวเข้ม ลำต้นโปร่ง ระบบรากแข็งแรง เมล็ดมีความเหนียวนุ่ม และมีเมล็ดหวานแทรก และ พันธุ์ข้าวเหนียวข้าวก่ำ มีลักษณะเมล็ด เปลือก ไหม และซังสีม่วงเข้ม ทั้งในระยะฝักสดและระยะฝักแห้ง มีปริมาณสารแอนโทไซยานินสูงมาก นอกจากนี้ ยังได้มีการพัฒนาข้าวโพดข้าวเหนียวลูกผสม 3 พันธุ์ คือ ข้าวเหนียวหวาน มีลักษณะฝักใหญ่ ติดเมล็ดเต็มทั้งฝัก เมล็ดมีเนื้อเหนียว นุ่ม รสชาติดี และมีเมล็ดหวานแทรก และข้าวก่ำหวาน เบอร์ 1 และ เบอร์ 2 มีลักษณะคล้ายกับข้าวเหนียวหวาน แต่มีเมล็ดและซังสีม่วงเข้ม ข้าวโพดหวานลูกผสม พันธุ์นวลทอง มีลักษณะฝักคู่ เมล็ดมีรสชาติหอม หวาน และมีอายุเก็บเกี่ยวสั้น

การนำไปใช้ประโยชน์/หรือผลกระทบที่ได้รับการถ่ายทอด

จากการดำเนินงานที่ผ่านมา ได้เผยแพร่เมล็ดพันธุ์และถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตข้าวโพดไปสู่เกษตรกร   สำหรับพื้นที่ใช้ประโยชน์จากพันธุ์ข้าวโพดของโครงการฯ อยู่ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง อาทิ จังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ เลย สุพรรณบุรี นครปฐม กาญจนบุรี ราชบุรี และประจวบคีรีขันธ์ และยังได้พัฒนาหมู่บ้านต้นแบบการผลิตเมล็ดพันธุ์ เพื่อเป็นการสร้างอาชีพให้กับเกษตรกรได้อีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ ได้เผยแพร่เชื้อพันธุกรรมไปสู่หน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อใช้สำหรับงานปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพด

          

พันธุ์สำลีอีสาน                                                            พันธุ์ข้าวเหนียวหวานขอนแก่น                                                    พันธุ์นวลทอง

การปรับปรุงพันธุ์ข้าวฟ่างหวานเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบผลิตเอทานอลในเชิงพาณิชย์

Sweet sorghum breeding as a feedstock for commercial ethanol production

ลักษณะเด่นของผลงาน

การกำหนดโจทย์วิจัยมาจากการวิเคราะห์สถานการณ์พลังงานเชื้อเพลิงของประเทศที่เป็นภาระด้านงบประมาณในการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงฟอสซิลในแต่ละปีมูลค่าสูงกว่า 1 ล้านล้านบาท ประกอบกับกระทรวงพลังงานได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ด้านพลังงานทดแทน 15 ปี (พ.ศ.2551-2565) ซึ่งในแผนนี้ การผลิตเอทานอลนับเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการผลิตเป็นพลังงานทดแทนในรูปของแก๊สโซฮอล์ จากนโยบายนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้อนุมัติให้มีการจัดตั้งโรงงานผลิตเอทานอล จำนวน 54 โรง โดยมีเป้าหมายการผลิตเอทานอลให้ได้ไม่ต่ำกว่าวันละ 12 ล้านลิตร การผลิต  เอทานอลจำนวนนี้ จำเป็นต้องใช้วัตถุดิบปริมาณมาก ในขณะที่วัตถุดิบหลักที่ใช้ในปัจจุบัน คือ กากน้ำตาล อ้อย และมันสำปะหลัง จะมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรมการผลิตเอทานอล

เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบที่จะใช้ผลิตเอทานอลจึงได้มีการพัฒนาข้าวฟ่างหวาน เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบทางเลือกใหม่ โดย รศ.ดร.ประสิทธิ์ ใจศิล  ได้ริเริ่มปรับปรุงพันธุ์ข้าวฟ่างหวานขึ้นมาเป็นพันธุ์แรกให้ชื่อว่า ข้าวฟ่างหวานพันธุ์ มข.40 เพื่อเป็นเกียรติแก่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในวาระครบรอบวันสถาปนาปีที่ 40 ในปี พ.ศ.2547 แต่เนื่องจากข้าวฟ่างหวานพันธุ์นี้เป็นพันธุ์บริสุทธิ์จึงมีข้อจำกัดในการให้ผลผลิต ดังนั้น จึงมีแนวคิดในการพัฒนาพันธุ์ข้าวฟ่างหวานลูกผสม โดยใช้เครื่องหมายโมเลกุลเป็นเครื่องช่วยในการคัดเลือกสายพันธุ์ A และ B ซึ่งต้องใช้ในขั้นตอนการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวฟ่างหวานลูกผสมจนกระทั่งสามารถคัดเลือกสายพันธุ์พ่อ-แม่ได้สำเร็จและทำการทดสอบหาคู่ผสมที่ดีสุดในปี 2556 และคาดว่าจะผลิตเมล็ดพันธุ์เพื่อการค้าได้ภายในปี 2557 ในชื่อ ข้าวฟ่างหวานลูกผสมพันธุ์ มข.50 เพื่อร่วมเฉลิมฉลองในวาระที่คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นก่อตั้งมาครบ 50 ปี

การนำไปใช้ประโยชน์

การพัฒนาพันธุ์ข้าวฟ่างหวานลูกผสมพันธุ์ มข.50 มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบทางเลือกใหม่ สำหรับใช้ผลิตเอทานอลในเชิงพาณิชย์ เพราะได้มีการศึกษาต้นทุนการผลิตข้าวฟ่างหวาน (656 บาท/ตัน ลำต้นต้นสด) และต้นทุนการผลิตน้ำเชื่อม (5,615 บาท/ตัน) ไว้อย่างสมบูรณ์แล้ว ซึ่งพบว่าต้นทุนการผลิตเอทานอลจากวัตถุดิบทั้ง 2 ชนิดนี้ สามารถแข่งขันกับการใช้อ้อยหรือกากน้ำตาลได้ อย่างไรก็ตามข้าวฟ่างหวานพันธุ์นี้อาจจะใช้ประโยชน์ในทางอื่นได้อีก เช่นใช้เป็นพืชอาหารสัตว์เพราะมีความหวานในตัว จึงใช้ผลิตเป็นหญ้าหมัก (silage) หญ้าแห้ง (hay) หรือตัดให้กินสดก็ได้ สำหรับมูลค่าของลำต้นตัดสดประมาณตันละ 800 บาท โรงงานผลิตเอทานอลที่มีกำลังการผลิต 200,000 ลิตร/วัน จะใช้ลำต้นข้าวฟ่างหวานประมาณ 3,300 ตัน/วัน คิดเป็นมูลค่าลำต้นข้าวฟ่างหวานที่ต้องใช้เท่ากับ 2,640,000 บาท/วัน

เทคโนโลยีการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของก๊าซ CH4 ในนาและเพิ่มผลผลิตข้าว

 

ลักษณะเด่นของผลงาน

ประเทศไทยผลิตข้าว และส่งออกข้าวเป็นอันดับหนึ่งของโลก ก๊าซมีเทน (CH4) และคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เป็นก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญทีมีแหล่งปล่อยจากนาข้าวน้ำขังและมีศักยภาพทำให้โลกร้อนขึ้น (Global Warming Potential, GWP)  ก๊าซ CH4 มี GWP มากกว่า CO2 ถึง 25 เท่า (IPCC, 2007) และส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)  ในประเทศไทยการให้ได้มาซึ่งข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) จากการผลิตข้าวในลักษณะต่างๆ เป็นข้อมูลที่จำเป็นมากต่อการทำฉลากคาร์บอนของข้าวถุง ทั้งนี้ คาร์บอนฟรุตพริ้นท์จากนาข้าว  หมายถึง ปริมาณก๊าซคาร์บอนที่วัดได้ประกอบด้วยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และมีเทน (CH4) ที่ปล่อยออกจากนาข้าวพื้นที่หนึ่งของช่วงฤดูปลูกหนึ่งสู่บรรยากาศ ทั้งนี้จากปัญหาภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้มนุษย์มีการพัฒนาคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการประเมินปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อันนำไปสู่การกระตุ้นให้มีการจัดการ เพื่อลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนฟรุตพริ้นท์จากนาข้าว แนวทางการลดปริมาณการปล่อยก๊าซ CH4 จากนาข้าวและเพิ่มผลผลิตข้าว สามารถทำได้โดยให้ไถกลบฟางข้าว ตอซัง วัชพืชสดหรือใส่ปุ๋ยอินทรีย์ลงดิน โดยไถกลบในสภาพดินชื้นทิ้งไว้อย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนการเตรียมดิน แนะนำให้ทำนาหว่านในพื้นที่ชลประทานเพราะสามารถควบคุมน้ำได้และใช้น้ำน้อยกว่านาดำ (มีจำนวนวันที่ขังน้ำน้อยกว่านาดำ ลดปริมาณการปล่อยก๊าซ CH4ได้มากกว่านาดำ) ใส่ปุ๋ยรองพื้นสูตร 16-20-0 ให้ดินเหนียวหรือ 16-16-8 ให้ดินร่วนในอัตรา 15-20 กก./ไร่ เมื่อกล้าอายุ 15-20 วันหลังหว่านหรือ 7 วันหลังปักดำ แล้วแต่งหน้าในช่วงข้าวแตกกอถึงก่อนข้าวตั้งท้องด้วยปุ๋ย urea, ปุ๋ย ammonium sulfate หรือ gypsum ในอัตรา 20-30 กก./ไร่ การใส่ปุ๋ยเคมีควรแบ่งใส่เมื่อมีน้ำขังในนาประมาณ 5 ซม. ตลอดฤดูปลูกเริ่มจากระยะข้าวตั้งตัวควรดูแลให้ต้นข้าวใช้น้ำขังให้หมดจนผิวดินแตก 2-3 วันสำหรับดินเหนียว หรือ 4-5 วันสำหรับดินร่วน แล้วจึงทดน้ำเข้านาให้ท่วมประมาณ 5 ซม. โดยที่ดูแลให้ดินชุ่มและข้าวไม่ขาดน้ำในช่วงข้าวตั้งท้องถึงข้าวออกดอก และปล่อยให้ดินแห้งช่วง 14 วันก่อนเก็บเกี่ยวสำหรับดินเหนียวหรือ 7 วันก่อนเก็บเกี่ยวสำหรับดินร่วน จะทำให้ได้ผลผลิตข้าวดีและลดปริมาณการปล่อยก๊าซ CH4ได้

การนำไปใช้ประโยชน์

ควรมีการนำ “คาร์บอนฟุตพริ้นท์” มาใช้เป็นเครื่องมือจัดการการผลิตข้าว นอกจากจะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนแล้ว ยังเป็นการลดต้นทุนการผลิตด้านพลังงานอีกด้วย ซึ่งสามารถใช้ข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ด้วยการติด “ฉลากคาร์บอน” ที่ข้าวถุง ย่อมส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ตลอดจนเป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้กับแบรนด์สินค้าได้

แปลงทดลองลดคาร์บอนฟุตพริ้นต์   

เก็บตัวอย่างก๊าซมีเทนจากนาข้าว

งานวิจัยระบบการทำฟาร์ม

Farming Systems Research

 

ลักษณะเด่นของผลงาน

ทีมงานเป็นการรวมพลังของนักวิจัยจำนวนมาก (กว่า 50 คน)  จากหลายสาขาวิชา ทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์ธรรมชาติและสังคมศาสตร์ และมีการดำเนินงานในแบบที่เป็นแบบสหสาขาวิชา (interdisciplinary) และมีการบูรณาการของงานอย่างแท้จริง

วิธีการ (methodologies) ที่โครงการได้พัฒนาขึ้นมา ได้ถ่ายทอดให้หน่วยงานผู้ปฏิบัติหลากหลาย และหน่วยงานเหล่านั้นได้มีการนำไปใช้ในการดำเนินงานของตนอย่างแพร่หลายและส่งผลกระทบที่เด่นชัด

การสร้างเครือข่ายที่กว้างขวาง ทั้งภายในประเทศ และระดับนานาชาติ ส่งผลกระทบทั้งในแง่ของพัฒนาวิชาการและการรวมพลังในการดำเนินงาน และการมีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติของกลุ่มวิจัยระบบการทำฟาร์มของมหาวิทยาลัยขอนแก่น

การนำไปใช้ประโยชน์/หรือผลกระทบที่ได้รับการถ่ายทอด

มีการจัดฝึกอบรมวิธีการ (methodology) ในการดำเนินงานวิจัยระบบการทำฟาร์มโดยเฉพาะวิธีการวิเคราะห์พื้นที่ (area analysis) การวิเคราะห์ระบบนิเวศเกษตร (agroecosystem analysis) และการประเมินสภาวะชนบทแบบเร่งด่วน (rapid rural appraisal, RRA) ให้แก่หน่วยงานผู้ปฏิบัติหลายต่อหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชนที่สำคัญและมีผลกระทบสูงได้แก่ การฝึกอบรมเรื่องงานวิจัยระบบการทำฟาร์มให้แก่กลุ่มนักวิชาการรุ่นแรกของกรมวิชาการเกษตรที่ทำงานวิจัยระบบการปลูกพืช การฝึกอบรมเรื่องการวิจัยในฟาร์มเกษตรกร (on-farm research)  ให้แก่นักวิชาการของศูนย์และสถานีวิจัยพืชไร่ที่อยู่ในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การฝึกอบรมเรื่องการวิเคราะห์พื้นที่ การวิเคราะห์ระบบนิเวศเกษตรและการประเมินสภาวะชนบทแบบเร่งด่วนให้แก่โครงการชลประทานขนาดเล็กในภาคตะวันออกเฉียงเหนือสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร นิคมสร้างตนเอง กระทรวงสาธารณสุข องค์กรเอกชนจากประเทศญี่ปุ่น อาสาสมัคร Peace Corps จากสหรัฐ นักวิจัยในโครงการที่มณฑลยูนานประเทศจีน กระทรวงกสิกรรมและป่าไม้ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นต้น

การถ่ายทอดเทคโนโลยีจากเกษตรกรไปสู่เกษตรกร โดยเฉพาะการขยายผลการปลูกถั่วลิสงหลังนาโดยไม่มีการชลประทานของเกษตรกรที่จังหวัดสุรินทร์ไปยังท้องที่อื่นในจังหวัดขอนแก่น และกรมส่งเสริมการเกษตรได้นำไปทดสอบเพื่อขยายผลในอีกหลายจังหวัด

การสร้างเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ กลุ่มงานวิจัยระบบการทำฟาร์ม เป็นแกนนำสำคัญในการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายของผู้ที่ทำงานวิจัยและพัฒนาทางด้านนี้ในประเทศไทยและเป็นหนึ่งในผู้ที่มีบทบาทหลักในการจัดการสัมมนาระบบการปลูกพืชแห่งชาติซึ่งจัดรวม 5 ครั้ง ในช่วงปี พ.ศ.2520-2526 และต่อด้วยการสัมมนาระบบการทำฟาร์มแห่งชาติรวม 11 ครั้งในช่วงปี พ.ศ.2527-2539 และเปลี่ยนมาเป็นการสัมมนาระบบเกษตรแห่งชาติซึ่งจัดต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เครือข่ายกับสถาบันต่างประเทศที่สำคัญ ได้แก่ Southeast Asian Universities (SUAN) และ Program on Environment ของ East-West Center ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นต้น