ทิศทางงานวิจัย

50ปี แห่งการสร้างสรรค์ผลงานวิจัย ด้านการเกษตร

50 ปี วิจัยเกษตร_Final(2)

บทสัมภาษณ์ ทิศทางการวิจัยของคณะเกษตรศาสตร์

 ในทรรศนะ ศาสตราจารย์ ดร. กมล เลิศรัตน์

 ในอนาคตโลกจะประสบกับวิกฤตสำคัญ 3 อย่าง คือ อาหาร น้ำ และพลังงาน ในภาคการเกษตรก็มีวิกฤตที่สำคัญ 3 อย่างด้วยกัน คือ แรงงานในการเกษตรขาดแคลน  ภัยธรรมชาติที่ไม่แน่นอน ทำให้สิ่งแวดล้อมแปรปรวนส่งผลให้ผลผลิตต่ำ และปัญหาความมั่นคงทางอาหารซึ่งใน 5 ด้านที่ประกอบด้วย ความพอเพียง การเข้าถึง ความปลอดภัย การเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ และการดีต่อต่อสภาพแวดล้อม ในปัจจุบันเราไม่มีปัญหาเรื่องความพอเพียงและการเข้าถึงอาหารของประชากร แต่พบว่ายังมีปัญหาใน 3 อันหลัง คือ ความปลอดภัย การเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ และการดีต่อต่อสภาพแวดล้อม เพราะสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมอย่างที่สุด ทำให้ต้นทุนการผลิตสูง ต้องเติมปัจจัยการผลิตเยอะ ในเรื่องของอาหาร ปริมาณสินค้าเกษตรกรราคาถูก เราจะมีปัญหาในการแข่งกับเพื่อนบ้าน ยกตัวอย่างประเทศที่น่าจะได้เปรียบเรามากๆ ในอนาคต เช่น ประเทศพม่ากับเขมรถ้าประเทศเขาสงบสุข  แต่พม่าน่าจะใกล้เคียงกับเราเพราะคน 50 ล้าน แรงงานเกษตรราคาถูกเยอะกว่า ที่ดิน สิ่งแวดล้อมดีกว่าเรา สินค้าราคาถูก ข้าวมูลค่าต่ำ พืชอาหารสัตว์ เราไม่น่าแข่งกับเขาได้ นอกจากประเทศเพื่อนบ้านแล้ว ประเทศที่เป็นคู่แข่งกับเราจริงๆ คือ ประเทศจีน แม้กระทั่งข้าว ตอนนี้จีนลงไปปลูก และวิจัยในทุกประเทศที่เป็นลูกค้าไทย แนะนำพันธุ์ข้าวลูกผสมที่ให้ผลผลิตสูง ซึ่งประเด็นดังกล่าวข้างต้นเป็นปัญหาและเป็นโจทย์ใหญ่ ที่จำเป็นต้องหาแนวทางแก้ไข โดยใช้โมเดลที่เขามีงานวิจัยไว้แล้วในต่างประเทศ ไม่จำเป็นต้องเริ่มงานวิจัยใหม่

ทิศทางงานวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการเกษตร ควรเน้นการผลิตโดยใช้เทคโนโลยี และเครื่องทุ่นแรงทุกรูปแบบ เช่นในไต้หวัน ญี่ปุ่น ที่ทำก่อนเรา ทิศทางงานวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องความปลอดภัยของอาหารและไม่สร้างผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม ได้แก่ งานวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ และลดต้นทุนการผลิต โดยใช้แนวทางการบูรณาการระหว่าง สัตว์-พืช การปลูกพืชแบบเกษตรผสมผสาน การปลูกพืชร่วมกัน การเอาพืชที่ปรับตัวในท้องถิ่นมาใช้ประโยชน์ทางสุขภาพ การใช้พลังงานธรรมชาติ เช่น การใช้เทคโนโลยีการกลั่นน้ำจืดจากน้ำเค็ม ของออสเตรเลีย ซึ่งถ้าขายให้กับประเทศในแถบทะเลทรายเขาก็จะไม่ซื้อผักกับเรา น้ำสะอาดจะเกิดการแย่งชิงกับชุมชนเมือง เราต้องใช้น้ำอย่างประหยัด รักษาสิ่งแวดล้อม ในอิสราเอล พวกฝ้าย ธัญพืช ที่ไม่เกี่ยวกับสุขภาพหรือคนโดยตรง ใช้น้ำจากการบำบัดจากเมือง การผลิตต้องมีประสิทธิภาพ โดยใช้น้ำหรือปัจจัยการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งรวมทั้งการหมุนเวียนการใช้ประโยชน์ของเสียจากอุตสาหกรรมการเกษตร และการเพิ่มมูลค่า และเกษตรแบบอินทรีย์ ที่รัฐบาลวางไว้นับว่าดีอยู่แล้ว แต่ต้องมีเทคโนโลยีที่ทำได้ เหมือนที่เอกชน ทำได้ โดยเฉพาะปุ๋ยในระบบเกษตรอินทรีย์ซึ่งทำได้ยาก การผลิตที่มีประสิทธิภาพยังรวมถึงการใช้เทคนิคการผลิตแบบเกษตรสั่งได้ หรือการผลิตพืชโดยใช้ระบบปิด เมื่อลงทุนแล้วต้องได้ผลผลิตและคุณภาพตามที่ต้องการ  เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น Plant factory ที่สามารถปลูกได้ตลอด โดยเฉพาะพืชผักหรือการปรับปรุงพันธุ์พืชให้ทนกับการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือถ้าอากาศไม่ผันผวนมากควรปรับเปลี่ยนระบบการปลูกพืชโดยหลีกเลี่ยงการปลูกข้าวหน้าฝน เพื่อหลีกเลี่ยงน้ำท่วม แต่ปลูกหน้าแล้งแทน ซึ่งต้องทำข้าวอายุสั้น

ในกรณีของการแข่งขัน การแข่งขันกับประเทศอย่างจีนควรจะผลิตสินค้าที่เขาผลิตไม่ได้ และผลิตต่างเวลากัน นอกจากนี้ การเพิ่มมูลค่า ยกตัวอย่างเช่น การแปรรูปข้าวต้องแปรรูปให้มากที่สุดเพื่อเป็นขนม อาหารสุขภาพ ทำอาหารตามอายุ โดยเฉพาะเด็ก และผู้สูงอายุที่จะมีเพิ่มขึ้น ซึ่งจะต้องกินดี ทางสัตว์ก็ควรใช้แนวทางเดียวกันคือผลิตแบบอินทรีย์ ควรมีการบูรณาการให้เกิดวงจรรวม พืช-สัตว์ ขยะต้องเปลี่ยนมาเป็นทองหรือเอามาใช้ประโยชน์ให้ได้

การเพิ่มมูลค่าจากพืชพื้นเมืองทั้งหลาย ต้องหาคุณค่าว่าผัก ผลไม้ พื้นเมืองของเรามีประโยชน์อะไร เพื่อตอบโจทย์การผลิตอาหารที่มีประโยชน์ เพราะทำพืชทั่วไป หรือผลไม้ฝรั่งเราสู้เขาไม่ได้ ต้องเอาพืชที่ปลูกเฉพาะที่ ไม่ใช่ปลูกเป็นพื้นที่ใหญ่

การจัดการเกษตรรายย่อยเพื่อให้สามารถผลิตเพื่อการส่งออกจะทำอย่างไร จะใช้โมเดลไหน อาจจะอยู่ในรูปบริษัทใหญ่ๆ หรือเริ่มต้นด้วยเกษตรกรก้าวหน้าก่อนที่มีฟาร์มขนาดใหญ่ ปัญหาคือเรื่อง economy of scale ของการผลิตพืชแต่ละชนิด ที่เรายังไม่รู้ หรือการใช้การรวมกลุ่มของเกษตรกร เพราะส่วนใหญ่เราเป็นแบบเพื่อยังชีพ เราจะผลิตแบบ mass เพื่อตอบสนองตลาดได้ยังไง โดยเฉพาะเกษตรกรในอีสานที่มีพื้นที่ขนาดเล็ก จะทำยังไงเพื่อให้สามารถใช้เครื่องจักรได้ เพื่อลดต้นทุนการผลิต หรือการใช้ทฤษฎีเกษตรพอเพียงของในหลวง ซึ่งเหมาะกับเกษตรกรรายย่อยที่ไม่ต้องซื้อ และไม่มีรายได้เพิ่ม แต่ถ้าอยากให้เกษตรกรรายย่อยเหล่านี้มีรายได้เพิ่มต้องทำอย่างไร จะใช้โมเดลจากที่ไหน ยกตัวอย่างเช่น จะใช้โมเดลจากจีนที่ใช้ระบบเช่าที่ลงทุนให้หมด แต่ก็จะมีปัญหาว่าเกษตรกรเป็นเหมือนแรงงาน

อันหนึ่งที่เราต้องเน้น คือ งานวิจัยเชิงบูรณาการ เพื่อแก้ไขปัญหาโดยความร่วมมือระหว่างสาขาวิชา คณะวิชา สถาบัน ตัวอย่างหรือใช้ model งานวิจัยแบบ cluster ที่กำลังทำอยู่ เพื่อแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้นน้ำ ซึ่งอาจทำโดยคณะเกษตร กลางน้ำ โดยคณะวิทยาศาสตร์  food science เภสัช และปลายน้ำที่อาจเป็นแพทย์ เพื่อผลิตอาหารเพื่อสุขภาพก็มีความจำเป็น ต้องทำการวิจัยเป็นช่องๆ post-harvest หรือ pre-harvest นอกจากนี้ ควรมีงานวิจัยระหว่างประเทศใน AEC  เหมือนกับรูปแบบที่ทำในสหภาพยุโรปที่มีทุนวิจัยวางกลาง และงานวิจัยในแต่ละประเทศก็หนุนเอาไป แล้วหลายประเทศมาทำงานวิจัยร่วมกันไม่ใช่การแข่งขันกัน

ในอนาคต งานวิจัยไม่ควรจะเน้นแค่พืชหลักๆ ตัวเศรษฐกิจหลักๆ เท่านั้น ไม่ใช่แค่ ข้าว อ้อย มัน ปอ เท่านั้น เหมือนสินค้าใหญ่ๆ ขายปริมาณมากๆ เพราะต่อไปตัวแข่งมันไม่ใช่ตัวนั้น แต่ควรมีพืชอื่นๆ หรือพืชรองด้วย และคณะฯ หรือมหาวิทยาลัยขอนแก่น ต้องทำงานวิจัยที่เป็นจุดแข็งของเรา เช่น ทางสายวิชาการที่แข็งด้าน conventional breeding ซึ่งที่อื่นไม่ค่อยมีใครทำ เราต้องเอา biotechnology มาใช้ ระบบการผลิตธรรมดาและเกษตรอินทรีย์ยังไม่มีใครทำด้านนี้อย่างจริงจัง

ในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยต้องมีทั้งสอน และวิจัย คณะฯ ควรจะมีงานวิจัยที่สมดุลกันระหว่างการสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบสนองความต้องการของท้องถิ่นหรือตอบคำถามของชาวบ้าน และเพื่อการตีพิมพ์หรือการวิจัยเชิงลึกที่ดี เราควรมีงานวิจัยที่เป็นทั้งแนวดิ่งและแนวราบ แต่ถ้าไม่ได้อาจต้องแยกกลุ่มนักวิจัยแต่ละกลุ่มออกจากกัน  ปัจจุบัน ตัวชี้วัดเรามุ่งสู่ความเป็นเลิศทางกระดาษ ถ้าจะทำทั้งสองอย่าง เราต้องหาโจทย์หรือสิ่งที่จะทำให้ชัด หรือตั้งตัวชี้วัด หรือหน่วยงานที่รองรับขึ้นมาใหม่ไม่ต้องทำตามต่างประเทศที่เราไปเรียนมา

 

ถอดบทสัมภาษณ์ “ทิศทางงานวิจัยคณะเกษตรศาสตร์”

ศาสตราจารย์ญาณวิทย์ ดร. เมธา วรรณพัฒน์  

50 ปีที่ผ่านมานั้นนับเป็น 50 ปีที่มีความหมายยิ่งในเรื่องของการพัฒนางานด้านการวิจัย ถือเป็นนโยบายที่สำคัญของคณะเกษตรศาสตร์และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ถ้ามองกลับไปจะพบว่าในช่วงที่ผ่านมาคณะได้วางโครงสร้างของงานวิจัยโดยเฉพาะการพัฒนาเรื่องอุปกรณ์และเครื่องมือที่ถือว่าเป็นส่วนช่วยให้การปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่อย่างไรก็ตามอาจต้องมีการเติมเต็มในจุดที่ยังขาดอยู่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพงานให้มากยิ่งขึ้น ส่วนต่อมาคือ นักวิจัย ซึ่งใน50 ปีที่ผ่านมานั้นมีการพัฒนาและรวมกลุ่มนักวิจัยให้มีขีดความสามารถในการการทำวิจัยได้เป็นอย่างดี ทั้งในแง่ของการส่งเสริม สนับสนุน และตอบปัญหาของท้องถิ่นได้ ซึ่งแม้ว่าจะมีการทำวิจัยเพื่อศึกษาในเชิงลึกหรือการทำวิจัยพื้นฐาน แต่เราไม่เคยลืมการทำวิจัยเพื่อลงไปใช้เผยแพร่ใช้ประโยชน์ในชุมชนซึ่งเป็นส่วนที่เราต้องช่วยกันทำให้มากยิ่งขึ้นซึ่งจะช่วยเพิ่มคุณค่าของการวิจัยให้มากขึ้น  ในส่วนงานวิจัยเชิงลึก นักวิจัยมีขีดความสามารถในการทำวิจัยเชิงลึกในเชิงวิทยาศาสตร์ได้มากยิ่งขึ้นแต่อาจยังไม่เพียงพอ ในอนาคตข้างหน้า นักวิจัยต้องพัฒนาตนเองในเชิงลึกมากขึ้นให้เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวหรือก้าวกระโดดโดยเฉพาะงานวิจัยที่เชื่อมโยงกับงานวิจัยประยุกต์ที่สามารถเห็นผลได้ในระยะเวลาอันสั้น เราต้องพยายามแสวงหาโจทย์วิจัย หรือประเด็นการวิจัยเชิงลึกให้มีจุดเด่นอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นด้านพืช สัตว์ หรือสัตว์น้ำ และต้องมีการประยุกต์และให้เป็นมาตรฐานสากลและเล็งเห็นผลเป็นรูปธรรม แล้วนำผลวิจัยไปเผยแพร่สู่ผู้ประกอบการ (Stake holders) ทุกๆ ระดับให้ได้มากที่สุด นักวิจัยต้องมีวิสัยทัศน์ในการดำเนินการวิจัย มิใช่ใช้ประโยชน์ในระดับเกษตรกรเท่านั้น แต่อาจต้องมองการใช้ประโยชน์ในเชิงอุตสาหกรรมหรือเชิงการค้าได้ด้วย งานวิจัยที่ทำต้องใช้กรรมวิธีวิจัยที่มีมาตรฐานสากลและเป็นที่ยอมรับได้ในการวิจัยระดับนานาชาติได้ด้วย

เชื่อว่านักวิจัยของคณะเกษตรในยุคนี้และมองไปข้างหน้าจะเป็นพลังที่สำคัญในการวิจัยจะต้องปฏิบัติการวิจัยแบบก้าวกระโดดและเป็นเชิงรุก (proactive) แต่ต้องมองว่าในอนาคต 10-15 ปีข้างหน้าผู้ประกอบการจะมีปัญหาอะไร มีความต้องการอะไรที่จะต้องนำมาใช้ประยุกต์  ซึ่งต้องมองในระยะสั้น-กลาง-ยาว ซึ่งในระยะยาวต้องมองตั้งแต่บัดนี้ไปเพราะจะทำให้เราได้เตรียมตัวแม้ว่าอาจจะไม่สามารถปฏิบัติการวิจัยได้ครบถ้วนในเวลาอันสั้น แต่ถือเป็นการเริ่มต้นและจุดประกายนักวิจัยได้ด้วยว่าทำไปแล้ว พบแล้วว่าเป็นอย่างไรและจะนำไปสู่การใช้ประโยชน์เพราะนักวิจัยนอกจากจะแบกภาระในการวิจัยเพื่อช่วยเหลือระดับเกษตรกรหรือชุมชนแล้วต้องมองในภาพกว้างในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค ระดับนานาชาติ ซึ่งเราต้องพัฒนาตนเองให้มีความรู้ความสามารถและเสาะหาประสบการณ์ให้มากยิ่งขึ้น

ในขณะเดียวกันนักวิจัยต้องพัฒนาด้านภาษาซึ่งต้องนำมาใช้ประโยชน์ในการสื่อสารและกิจวัตรประจำวัน นักวิจัยจะต้องตระหนักและตื่นตัวในการพัฒนาตนเองในเรื่องภาษาเพราะภาษาจะนำไปสู่การเรียนรู้และสื่อสารกับนักวิจัยคนอื่นได้เป็นอย่างดี ตลอดจนการศึกษาค้นคว้าข้อมูลการวิจัยในระดับนานาชาติ

การพัฒนาเข้าสู่การเป็นทีมที่จะให้ดีที่สุด คือ การพัฒนาตัวเอง (individual) ซึ่งต่อไปจะสามารถไปแบ่งปันความรู้ประสบการณ์ให้กับสมาชิกในทีม เราต้องเพิ่มพลังให้ทีมพัฒนาขีดความสามารถ เปิดโลกทัศน์ให้เป็นนานาชาติ ทีมในที่นี้ไม่ใช่เฉพาะทีมนักวิจัยเท่านั้น อาจหมายรวมถึงทีมนักศึกษา บัณฑิตศึกษาระดับปริญญาโท ปริญญาเอก และระดับหลังปริญญาเอก (ซึ่งต่อไปจำเป็นต้องมี) เพราะบัณฑิตศึกษาทุกระดับเป็นพลังที่สำคัญในการปฏิบัติการวิจัยเพื่อให้ได้มาซึ่งผลงานวิจัยที่มีประสิทธิภาพสูง อาจารย์เองต้องเป็นผู้นำในทีมและต้องถ่ายทอดส่งต่อประสบการณ์ให้นักวิจัยรุ่นต่อๆไป อยากให้เปิดวิสัยทัศน์กว้างและมองในภาพที่ดีงามซึ่งจะทำให้เราทำงานได้อย่างสบายใจยิ่งขึ้น แต่ต้องไม่ประมาท แล้วเราจะมีความสุขในการสอนและการทำงานวิจัยแบบเป็นกิจวัตรประจำวัน

ทิศทางงานวิจัยของคณะเกษตร มข. คงจะสามารถก้าวกระโดดได้เพราะเรามีโครงสร้างการวิจัยที่ดี มีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในระดับที่ดี และจะสามารถขยายผลการปฏิบัติงานวิจัยให้กว้างขวางยิ่งขึ้นและผลงานที่จะเป็นประโยชน์ต่อสังคม เผยแพร่ออกสู่ระดับประเทศ ระดับภูมิภาคและนานาชาติ ผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็น บัณฑิตที่จะสำเร็จการศึกษาออกไปล้วนเป็นผลสัมฤทธิ์ที่ได้มาจากการทำงานวิจัยร่วมกัน และเกิดสิ่งอื่นๆตามมามีอีกมากมายที่ทำให้เรามีความสุข

อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ คือ การมีโอกาสเข้าร่วมประชุมวิชาการในทุกๆ ระดับ ทั้งระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และที่สำคัญคือ ระดับนานาชาติ นอกจากจะเป็นการนำเสนอเผยแพร่ผลงานวิจัยแล้ว ยังจะได้พบปะปฏิสัมพันธ์กับนักวิจัยจากหลายๆหน่วยงาน และจากนานาชาติ เป็นโอกาสดีในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ซึ่งจะนำมาปรับปรุงตนเอง ให้การศึกษาวิจัยมีมาตรฐานและที่สำคัญคือการได้มีเพื่อน เชื่อมโยงเป็นเครือข่าย (networking) ในระดับนานาชาติต่อไป

นอกเหนือสิ่งอื่นใดการทำงานวิจัยต้องทำอย่างต่อเนื่อง จริงจัง จริงใจ ขยันและอดทน ให้ถือว่างานวิจัยเป็นส่วนสำคัญยิ่งในเส้นทางอาชีพของนักวิจัย และให้สนุก มีความสุขกับการทำงานวิจัย

บทสัมภาษณ์ ทิศทางงานวิจัย ในทรรศนะ

ศาสตราจารย์ ดร. อนันต์ พลธานี

การวางกรอบทิศทางการวิจัยนั้นจะต้องมีที่มาและที่ไป ที่มาจะต้องอิงข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อสร้างงานวิจัยรองรับที่จะเป็นไปได้จริง ในการต่อยอดความรู้เดิม สร้างนวัตกรรม และมีฐานสู่การแก้ไขปัญหา ในอีก 30 ปีข้างหน้าประชากรของโลกเพิ่มขึ้น 2,000 ล้านคนจากปัจจุบัน  7,000 ล้านคน เป็น 9,000 ล้านคน แน่นอนสิ่งที่ตามมาก็คือความต้องการอาหารเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 35% พลังงานเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 50%  และการใช้น้ำเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 40% ด้านอาหารประเทศเราโชคดี ที่เราผลิตข้าวได้มากเกินกว่าการบริโภคในประเทศ ที่เหลือส่งขายต่างประเทศ แต่ชาวนาไทยก็ยังยากจน ซึ่งจะสังเกตได้ว่าชาวนาจะยากจนกว่าชาวไร่และชาวไร่ยากจนกว่าชาวสวน

ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกข้าว 58 ล้านไร่ หรือคิดเป็น 39% ของพื้นที่การเกษตรทั้งหมดซึ่งมากที่สุดและในจำนวนนี้มีนาที่ไม่เหมาะสมปลูกข้าวให้ผลผลิตต่ำรวมอยู่ด้วย การทำนาข้าวที่เหลือจากการบริโภคในครัวเรือนขายเป็นรายได้มีมูลค่าต่อหน่วยพื้นที่ก็ยังต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับพืชอื่นที่มีมูลค่าสูง การทำอย่างอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า จึงเป็นทางออกอีกทางหนึ่งสำหรับชาวนาไทย ทิศทางการวิจัยสำคัญ ก็คือจะใช้พื้นที่นาไม่เหมาะสมหรือที่เรามักจะคุ้นคำว่า “นาดอน” ปลูกพืชอะไรหรือไปทำอะไรที่ดีกว่าการปลูกข้าวอย่าลืมว่า “สภาพนาดอน” ไม่เหมือนที่ดอนทั้งหมดเพราะนาดอนมีโอกาสเกิดสภาพน้ำขังชั่วคราวในช่วงฤดูฝนได้ ในขณะเดียวกันนาเหมาะสมที่เหลือสำหรับปลูกข้าวจะต้องวิจัยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อหน่วยพื้นที่ให้สูงขึ้นทั้งด้านพัฒนาพันธุ์และการจัดการการผลิต

ประเทศไทยนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศมีค่าใช้จ่ายมากร้อยละ 40 ของงบประมาณรายจ่ายทั้งหมดของประเทศ ทำอย่างไรจึงจะลดการนำเข้าเชื้อเพลิง ทิศทางการวิจัยสำคัญ คือ วิจัยเชื้อเพลิงโดยนำวัตถุดิบจากพืชไปใช้ในการแปรสภาพผลิตพลังงานทดแทนให้มากขึ้น นอกจากนี้ประเทศไทยต้องนำเข้าพืชอีกหลายชนิด เช่น ถั่วเหลือง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น จำเป็นต้องเน้นการวิจัยเพื่อผลิตพืชเหล่านี้ให้เพียงพอกับความต้องการในประเทศ

คนจีน (ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน) ชอบลำไยมากและมองลำไยเป็นตาของมังกร ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของโชคลาภ ตลาดประเทศจีนเป็นตลาดใหญ่เพราะมีคนจำนวนมาก ทิศทางการวิจัย ในเรื่องนี้คงหนีไม่พ้นการวิจัยด้านวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว การแปรรูป และการบรรจุผลิตภัณฑ์ การศึกษาวิจัยตลาดเฉพาะอย่างนำการผลิตให้ได้คุณภาพตามที่ต้องการก็มีความสำคัญเช่นกัน รวมทั้งผลไม้ชนิดอื่น ๆ พืชผัก ไม้ดอกไม้ประดับ เพื่อเป็นอีกทางออกหนึ่งในการเพิ่มรายได้ที่มั่นคงของเกษตรกร

ประเทศไทยเป็นแหล่งพันธุกรรมพืช สัตว์ ปลาพื้นบ้านอยู่เป็นจำนวนมากแต่การวิจัยเพื่อดึงเอาข้อดีหรือจุดเด่นของสิ่งเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ยังน้อย ทิศทางการวิจัย ที่เกี่ยวข้องด้านนี้เช่น กรณีพืชควรมีการศึกษาวิจัยพืชพื้นบ้านให้มากขึ้นทั้งในด้านการใช้ประโยชน์ด้านพลังงาน คุณค่าทางโภชนาการ ผลิตเป็นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช และความสามารถทนทานต่อภัยธรรมชาติ เป็นต้น

ภาคอีสานเป็นแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์ใหญ่ที่สุดในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการผลิตในฤดูแล้งซึ่งอยู่ในลักษณะ : contract farming  ทิศทางการวิจัย เพื่อสนับสนุนที่จะนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางและเป็นผู้นำในกลุ่มอาเซียนด้านการผลิตเมล็ดพันธุ์เพื่อการส่งออกที่มีคุณภาพสูงจึงเป็นโอกาสหนึ่งที่เราจะได้เปรียบในเชิงการค้า

การเลี้ยงโคยังมีบทบาทสำคัญสำหรับเกษตรกรรายย่อย ถ้ามีในครัวเรือนเปรียบเสมือนมีเงินออมในธนาคาร เป็นหลักประกันความเสี่ยง ถ้าปีใดการปลูกพืชล้มเหลวก็ขายโค ทิศทางการวิจัย  เพื่อที่จะให้เกษตรกรรายย่อยมีการเลี้ยงโคในฟาร์มมากขึ้นจะทำอย่างไร ความสำคัญของการเลี้ยงโคไม่เฉพาะขายเป็นรายได้แต่จะได้มูลโคเป็นปุ๋ย กรณีสัตว์อื่นๆ ที่มีศักยภาพก็เช่นเดียวกัน

ปลาเป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่มีราคาถูกที่สุด เลี้ยงเพื่อบริโภคในครัวเรือน ที่เหลือขายเป็นรายได้ เกษตรกรรายย่อยเลี้ยงปลามักจะมีปัญหาต้นทุนในการชื้อหัวอาหารแพง ทิศทางการวิจัย เช่นจะลดการใช้หัวอาหารลงโดยใช้วัสดุในท้องถิ่นหรือจะใช้พืชอะไรที่ปลูกได้ในท้องถิ่นทดแทนหัวอาหาร จึงมีความสำคัญ กรณีสัตว์น้ำอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน

ประเทศไทยขาดแคลนแรงงานภาคการเกษตรอยู่ในขั้นวิกฤต ทิศทางการวิจัย จึงควรทำการพัฒนาเครื่องจักรกลการเกษตรมาใช้แทนแรงงานคนให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องจักรกลที่เหมาะสมกับฟาร์มขนาดเล็กของเกษตรกรรายย่อย

ภาวะโลกร้อนเริ่มมีผลกระทบต่อการเกษตร และมีแนวโน้มว่าจะร้อนมากขึ้นในอนาคต ทิศทางการวิจัย ในการจัดการการผลิตทั้งพืช สัตว์ และประมงเพื่อรองรับอุณหภูมิที่จะสูงขึ้นก็เป็นประเด็นที่สำคัญรวมทั้งมีการวิจัยเกี่ยวกับพืชป่าและแมลงกินได้ที่ปรับตัวได้ดีในสภาพแวดล้อมนั้นๆ

กระบวนการจัดการผลิตทั้งด้านพืช สัตว์ ประมง ควรจะคำนึงถึงการลดต้นทุนการผลิต การลดการใช้สารเคมี เพื่อความปลอดภัยของผู้ผลิตและผู้บริโภค การใช้น้ำอย่างมีคุณค่า (water footprint) ลดการปล่อยก๊าชเรือนกระจก คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม carbon footprint และกระบวนการผลิตแบบ zero waste เป็นต้น

การเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรกรก็มีความสำคัญเช่นกันไม่ใช่จะขายเฉพาะที่เป็นวัตถุดิบ ซึ่งได้ราคาต่ำ ทิศทางการวิจัย  เกี่ยวกับการแปรรูป การพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั้งจากพืช สัตว์ และประมงเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า เช่นกรณีของยางพารา ซึ่งมีศักยภาพในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายชนิด

เนื่องจากพื้นที่ทำการเกษตรในประเทศไทยในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันของปัญหาข้อจำกัดและศักยภาพ การกำหนดกรอบทิศทางการวิจัยควรจะให้จำเพาะพื้นที่มากขึ้น เพื่อให้ผลงานวิจัยที่มีความเที่ยงตรง แม่นยำเหมาะสมกับในแต่ละพื้นที่ ลักษณะงานวิจัย area-based research หรือ community-based research จึงมีความสำคัญ

ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรบอกว่าประเทศไทยมีประชากรภาคการเกษตรมากกว่า 24 ล้านคนหรือสัดส่วนร้อยละ 38 มีประชากรที่เป็นแรงงานภาคการเกษตรเป็นสัดส่วน 45% ของแรงงานทั้งหมด พื้นที่เกือบครึ่งหรือร้อยละ 46 เป็นพื้นที่ทำการเกษตร ดังนั้นจึงยังถือว่าอาชีพการเกษตรมีความสำคัญสำหรับประเทศไทย แต่คนไทยมีแนวโน้มให้ความสำคัญกับการทำเกษตรน้อยลง แต่คนต่างชาติเข้ามาอยู่เมืองไทยชื้อที่ดินทำการเกษตรจึงเป็นเรื่องที่น่าคิด

ทิศทางงานวิจัย ในทรรศนะ

ศาสตราจารย์ ดร.อารันต์ พัฒนาโนทัย

คณะเกษตรศาสตร์เรามีทิศทางงานวิจัยที่ชัดอยู่แล้ว ไม่ว่าจะ master project  ทางด้านไหนก็ตาม มีบางเรื่องเท่านั้นที่กำลังปรับปรุงอยู่

มองทางด้านพืช ทางพืชไร่ แต่ก่อนเน้นแต่พืชเล็กๆ เพราะทางกรมวิชาการเกษตรทำกันอยู่แล้ว แต่ในปัจจุบัน กรมวิชาการไปทำงานส่งเสริมเพิ่มขึ้น ทางพืชไร่ต้องจับพืชหลักของอีสานให้มากขึ้น เช่น อ้อย มันสำปะหลัง และยางพารา เป็นต้น แต่คนยังมีไม่เพียงพอ

ส่วนกลุ่มของระบบเกษตร มีหลายเรื่องที่ต้องทำ ในปัจจุบันก็มีการรวมกลุ่ม เรื่อง Transition in Agriculture ของอีสาน ที่ทำโดย Prof. A. Terry Rambo แต่นอกจากจะทำงานวิจัยที่เป็น area-based เท่านั้น ควรวิจัยร่วมกับทางด้าน commodity -based ด้วย ที่สาขาอื่นๆ ทำไม่ได้ ที่ไม่ใช่ เรื่องโรค แมลง พันธุ์ การใส่ปุ๋ย ฉีดยา ซึ่งต้องทำงานเป็นธีมมากขึ้น

ซึ่งทางสัตวศาสตร์ มีธีมค่อนข้างชัดเจน เช่น วัวนมทนร้อน

เรื่องที่ยังขาดเยอะเกี่ยวกับโรคพืช และกีฏวิทยา ที่บุคลากรกำลังเกษียณอายุ โดยเฉพาะในภาวะโลกร้อน เมื่อมีการระบาดของแมลงที่มีการพูดกันระดับประเทศ คือ งานวิจัยเรื่องโรคแมลงที่จะระบาดมากขึ้น ควรจะมีงานวิจัยระบบเตือนภัย (warning system) ซึ่งต้องการคนทางระบาดวิทยา ซึ่งประเทศไทยยังขาดอยู่ สาขาที่เป็น field entomologist field pathologist ตอนนี้หายไปมาก เหลือแต่ field ที่ลงลึกๆ พวก molecular เท่านั้น ซึ่งจริงๆ ต้องมีทั้ง 2 อย่างประกอบกัน

ในเรื่องดินก็เหมือนกัน บุคลากรที่เกี่ยวกับเรื่องดินและปุ๋ยไม่มี เรื่อง ธาตุที่มีปริมาณน้อย (minor element) ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในอีสานยังไม่มีคนมาทำแทนคนที่เกษียนไปแล้ว แต่จะทำเหมือนเดิมไม่ได้ เราใช้แค่ประยุกต์ใช้ เพราะเราตอบคำถามอะไรไม่ได้ ซึ่งเราต้องให้ความสนใจมากขึ้น

พืชทนแล้งเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ต้องทำ แม้จะมีการพูดกันมานาน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ

อีสานแล้งมาก แต่ไม่มีใครใน มข. ที่จับเรื่องน้ำ เพราะอีสานมีน้ำอยู่ แต่มีจำกัด เราจะทำยังไงให้ใช้ประโยชน์น้ำได้มีประสิทธิภาพ ไม่ใช่ให้แบบชลประทานใหญ่ๆ เช่น ระบบน้ำหยดเอาที่เข้ามาใช้ในอ้อย เป็นต้น

ประเด็นหลักๆ ที่เป็นปัญหาของคนอีสาน เราก็ยังขาดคนที่จะไปจับ เพราะกำลังคนเริ่มหายไป ตอนนี้เริ่มตั้งกลุ่มใหม่แล้ว ในหลายๆ เรื่อง โดยเราต้องจับแนวทางให้ชัดเจน เราต้องทำงานทั้งองค์ความรู้ และการพัฒนา และทำร่วมกับคณะอื่นด้วย

นักวิจัยควรไปจับงานหลักๆ และไปร่วมวิจัยกับหน่วยงานอื่น ทำงานเป็นทีมให้ใหญ่ขึ้น

ในกลุ่มเศรษฐศาสตร์ จะถนัดทาง micro economic จะต้องทำงานเป็นส่วนหนึ่งของ commodities เหมือนกับที่อาจารย์วีระ ภาคอุทัยทำอยู่ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่ง ที่จะคล้ายๆ ไปทางส่งเสริม หรืองานฟาร์ม หรือกระตุ้นให้เกษตรกรปฏิบัติ Good Practice

งานวิจัยในคณะฯ ตอนนี้ เราจับแนวทางใหญ่ๆ อยู่แล้ว ทีมมีอยู่แล้ว ทำให้เข้มแข็ง หาโจทย์ให้ชัด หาคนเข้าไปทำ และร่วมมือกับหน่วยงานอื่น

 

ถอดบทสัมภาษณ์ของ รศ. ดร. สุจินต์ สิมารักษ์

มุมมองงานวิจัยของคณะเกษตรศาสตร์ที่ผ่านมาส่วนใหญ่ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในการแก้ปัญหาที่มีอยู่ในภาคอีสานได้อย่างชัดเจน เนื่องจากงานวิจัยโดยส่วนใหญ่เป็นการทำวิจัยเฉพาะเรื่องที่ผู้วิจัยสนใจหรือมีความถนัด เพื่อการตีพิมพ์ในระดับนานาชาติเท่านั้น แต่ไม่ได้เป็นงานวิจัยที่นำเอาปัญหาในท้องถิ่นของภาคอีสานมาเป็นโจทย์วิจัย เพื่อหาคำตอบหรือแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่ตรงประเด็นหรือถูกต้องชัดเจน อีกทั้งงานวิจัยและนักวิจัยส่วนใหญ่ยังคงทำงานวิจัยตามแต่ละสาขาวิชาเฉพาะด้านที่ถนัด ซึ่งยังขาดการร่วมมือกันในภาพรวม และยังขาดการบริหารการจัดการด้านความรู้ต่างๆที่ได้จากงานวิจัย เพื่อนำไปสู่เกษตรกรผู้ประสบปัญหาในแต่ละพื้นที่ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาอาชีพและการแก้ไขปัญหาทางด้านเกษตรกรรมอย่างต่อเนื่อง

ควรมีการปฏิรูปการบริหารการจัดการด้านความรู้และการบริการความรู้ไปสู่กลุ่มเกษตรกรเพิ่มมากขึ้น เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาความเหลื่อมล้ำของกลุ่มคนในประเทศไทยมีมานาน และยังไม่สามารถแก้ไขได้ ซึ่งมีความเหลื่อมล้ำในหลายๆ ด้าน เช่น ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ทางสังคม ความเหลื่อมล้ำทางด้านการบริการข้อมูล เป็นต้น โดยความเหลื่อมล้ำทางด้านการบริการข้อมูล เพื่อให้เกษตรกรหรือกลุ่มคนทุกคน สามารถเข้าถึงความรู้ แหล่งเงินทุน หรือทรัพยากรต่างๆ ได้อย่างเท่าเทียมกันและถูกต้องโดยไม่สร้างหนี้สินให้กับเกษตรกรนั้นยังมีน้อยมาก ไม่สามารถบริการข้อมูลให้กับเกษตรกรได้อย่างทั่วถึง ซึ่งคณะเกษตรศาสตร์และหน่วยงานทางภาครัฐควรมีการร่วมมือและมีจุดยืนให้ชัดเจนมากขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว รวมถึงการตั้งโจทย์วิจัยที่สามารถก่อให้เกิดงานวิจัยที่สามารถแก้ไขปัญหาหรือลดความเหลื่อมล้ำดังกล่าวได้ ซึ่งเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่สามารถช่วยพัฒนาเกษตรกรให้สามารถยืนได้ด้วยตัวเองอย่างยั่งยืน

มุมมองงานวิจัยในส่วนของระบบโครงสร้างการเรียนการสอนและงานวิจัย ควรมีการปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกันมากยิ่งขึ้น โดยจะเห็นได้ว่าการเรียนการสอนที่ผ่านมาจะเป็นการเรียนการสอนตามความถนัดหรือความต้องการของผู้สอน ไม่ได้เป็นการเรียนการสอนที่มาจากการวิเคราะห์ความต้องการของภาคเกษตรกรรมโดยรวมของภาคอีสาน และยังเป็นการเรียนการสอนเพียงในห้องเรียนหรือในตำราเท่านั้น ยังขาดการเรียนรู้ทางด้านการปฏิบัติจริงที่จะทำให้นักศึกษาได้มีการเรียนรู้ความเข้าใจเพิ่มมากขึ้น และยังสามารถจดจำได้ดีกว่าการเรียนการสอนภายในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพของนักศึกษาและนักวิจัยในอนาคตที่คิดจะทำงานวิจัย หรือทำการศึกษาต่อที่จำเป็นต้องมีงานวิจัยในระดับปริญญาโท-เอก หากสามารถปรับปรุงแก้ไขระบบโครงสร้างการเรียนการสอนและงานวิจัยได้ ก็จะสามารถทำให้งานวิจัยที่กำลังเกิดขึ้นมีประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาของเกษตรกรมากขึ้น รวมถึงคุณภาพของนักศึกษาในระดับปริญญาโท-เอก ที่เมื่อสำเร็จการศึกษาออกไปแล้วสามารถทำงานวิจัยได้อย่างถูกต้องและสามารถเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายทางด้วยข้อมูลและความร่วมมือในการทำวิจัยอย่างมีประสิทธิภาพ

มุมมองงานวิจัยในด้านการพัฒนาบุคลากรและนักวิจัยรุ่นใหม่ของคณะเกษตรศาสตร์ พบว่าอาจารย์และนักวิจัยรุ่นใหม่ส่วนใหญ่จะถูกมอบหมายงานจากคณะมากขึ้น ทำให้มีเวลาในการทำงานวิจัยลดลง ตลอดจนไม่สามารถลงพื้นที่เพื่อเข้าไปศึกษาข้อมูล และรับฟังปัญหาจากเกษตรกรในท้องถิ่น เพื่อนำเอาปัญหาดังกล่าวนั้นมาทำเป็นโจทย์วิจัยได้อย่างถูกต้อง อีกทั้งยังมีข้อจำกัดในเรื่องของทุนวิจัยที่มีน้อยเกินไป สำหรับสร้างงานวิจัยที่มีคุณภาพและความต่อเนื่อง จากสาเหตุดังกล่าวจึงทำให้มีจำนวนนักวิจัยที่อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้นมากกว่านักวิจัยที่ลงไปศึกษาข้อมูลในพื้นที่จริงเพื่อสร้างโจทย์วิจัยทำให้ข้อมูลและผลงานวิจัยที่ได้รับนั้น ไม่สามารถนำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริงต่อเกษตรกรในภาคอีสาน และไม่เกิดความต่อเนื่องเพื่อนำไปสู่การพัฒนาประเทศได้อย่างชัดเจน

มุมมองงานวิจัยในอนาคตควรเป็นงานวิจัยเพื่อมุ่งเน้นการพัฒนา โดยสามารถก่อให้เกิดประโยชน์ได้ทั้งทางด้านการเผยแพร่ผลงานวิจัยภายในประเทศและต่างประเทศโดยการตีพิมพ์ผลงานวิจัยในระดับนานาชาติ และสามารถนำผลงานวิจัยที่ได้มาใช้เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ หรือเพื่อนำมาใช้แก้ไขปัญหาของเกษตรกรในท้องถิ่นหรือภาคอีสานได้อย่างมีประสิทธิภาพและตรงตามความต้องการ ซึ่งสามารถพัฒนาประเทศต่อไป แต่อย่างไรก็ตามการจะเกิดผลงานวิจัยดังกล่าวได้นั้น ก็จำเป็นต้องมีการแก้ไข ปรับปรุง ปฏิรูป ทั้งโครงสร้างและแนวความคิดอีกหลายด้าน ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือกันทุกภาคส่วน และจำเป็นต้องใช้เวลา

ข้อคิดดีๆสำหรับนักวิจัยที่ควรเกิดขึ้น คือต้องมีการปรับเปลี่ยนแนวทางความคิดใหม่ โดยมองโลกให้กว้างขึ้น ไม่มองแคบเหมือนที่ผ่านมา จำเป็นต้องเข้าไปดู สัมผัส เห็น เรียนรู้ให้กว้างขึ้น แล้วทำให้ผลงานวิจัยที่ทำไปนั้นสามารถย้อนกลับมาก่อให้เกิดประโยชน์กับตัวเองหรือเกษตรกรในท้องถิ่นได้

การพัฒนาคณะเกษตรศาสตร์ผ่านฐานการวิจัย

รศ.ดร. สุวิทย์ เลาหศิริวงศ์ ศิษย์เก่ารุ่น 8

คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นหนึ่งในสองคณะแรกของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่เปิดรับนักศึกษาตั้งแต่รุ่นที่ 1 ปี พ.ศ. 2507 ในระยะเริ่มต้น รัฐบาลนิวซีแลนด์ ได้เข้ามาช่วยเหลือคณะเกษตรศาสตร์ ด้วยการให้อาคารเรียน 1 หลัง และมีอาจารย์จำนวนหนึ่งมาช่วยสอน รวมทั้งรัฐบาลแคนาดา ก็เข้ามาสนับสนุนในบางด้าน พี่ๆ (รุ่น 1-4) จึงโชคดี (หรือว่าโชคร้าย) ที่ได้เรียนกับอาจารย์ฝรั่ง พี่ๆ หลายคนได้รับทุนไปศึกษาต่อต่างประเทศ กลับมาเป็นอาจารย์ที่คณะฯ และหน่วยงานอื่นๆ เมื่อผมเข้ามาเป็นนักศึกษาในปีพ.ศ. 2514 คณาจารย์จำนวนหนึ่งที่ได้ทุนไปศึกษาต่อ เริ่มกลับมาเป็นด๊อกเตอร์ หนุ่มสาว ไฟแรง ด้วยวิสัยทัศน์ของท่านคณบดี รศ.ดร. กวี จุติกุล และนักวิจัยกลุ่มหนึ่ง ในปี 2518 คณะฯ ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยเป็นโครงการใหญ่ๆ 3 โครงการคือ 1 KKU-IDRC Semi-Arid Crops Project (ดร. อารันต์พํฒโนทัย เป็นหัวหน้าโครงการ) 2. KKU-Ford Cropping Systems Project (รศ.ดร. เทอด เจริญวัฒนา หัวหน้าโครงการ) และ 3 KKU-IDRC Cassava Nutrition Project (รศ.ดร. สาโรช ค้าเจริญ หัวหน้าโครงการ) และต่อมาก็มีโครงการ KKU-Australian Pasture improvement Project (รศ.ดร. เอนก โตภาคงาม หัวหน้าโครงการ) โครงการทั้งสี่นี้เป็นโครงการระยะยาวหลายปี บางโครงการเช่นของ Ford Foundation มีการให้ทุนต่อเนื่องในชื่อโครงการใหม่ KKU-Ford Rural Systems Project ต่อมาอีกหลายปี โครงการเหล่านี้มีส่วนสำคัญยิ่งในการพัฒนาคณะเกษตรศาสตร์ของเรา  โดยเฉพาะในสามด้าน คือ 1) การพัฒนาอาจารย์ ทั้งสี่โครงการมีทุนการศึกษา ให้คณาจารย์ไปศึกษาต่อปริญญาเอก 2)  การพัฒนา infrastructureเพื่อการวิจัย เช่นแปลงทดลองของหมวดพืชไร่ ก็ได้อานิสงค์จากโครงการเหล่านี้ รถยนต์ รถมอเตอร์ไซด์ เกือบทั้งหมดได้มาจากโครงการฯ3) ผู้ช่วยวิจัย และนักศึกษาช่วยวิจัย แต่ละโครงการมีการจ้าง นศ. ที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาเป็นผู้ช่วยวิจัย และนักศึกษา ปี 3 และปี 4 เป็นนักศึกษาช่วยวิจัย ตัวผมเองเป็นผู้ช่วยวิจัยรุ่นแรก ที่อาจารย์อารันต์รับไว้สองคน ต่อมาเพื่อนลาออกไปรับราชการที่กรมวิชาการเกษตร และได้ทุนไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอกจากออสเตรเลีย ปัจจุบันเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (ผศ. ดร. หัสชัย บุญจูง)  รุ่นต่อๆ มาโครงการเหล่านี้ก็จะรับไว้ทำงานรุ่นละหลายๆคน บางคนก็ได้รับทุนในโครงการ เช่น ศ.ดร. อนันต์ พลธานี ได้ทุนจากมูลนิธิฟอร์ด ไปศึกษาระดับปริญญาโท ที่ IRRI ฟิลิปปินส์ ตัวผมเองก็ได้ทุนมูลนิธิฟอร์ด แต่ดิ้นรนไปนิวซีแลนด์และได้รับทุนเรียนปริญญาเอกจากรัฐบาลนิวซีแลนด์ รศ. ดร. ประสิทธิ์ ใจศิล รับทุนของ ICRISAT ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่อินเดียกลับมาบรรจุเป็นอาจารย์ และสำเร็จปริญญาเอกจากญี่ปุ่น อีกสองท่านที่ควรได้รับการกล่าวถึง ในฐานะศิษย์เก่าของโครงการวิจัย ที่ไปได้รับทุนอานันทมหิดล คือ รศ. ดร. กมล เลิศรัตน์ (รุ่น 9) และ ดร. กระบวน (รัตนโกสุม)ปรีชานนท์ (รุ่น 10) (คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย)นอกจากนั้นยังมีศิษย์เก่าอีกจำนวนหนึ่ง ที่ได้รับการสนันสนุนให้ได้รับทุนการศึกษาต่างๆ และกลับมารับราชการที่คณะฯ เช่น ทุน SEARCA เป็นต้น

Impact จากโครงการต่างๆ ที่กล่าวข้างต้น และทรัพยากรบุคคลที่ได้เริ่มต้นการทำวิจัย ส่งผลให้คณะเกษตรศาสตร์ของเรา เป็นที่รู้จักไม่เฉพาะในประเทศ (ผ่านการนำเสนอผลงาน การเป็นเจ้าภาพจัดสัมมนาระดับชาติ) แต่ในวงการวิจัยในระดับสากลด้วย ตัวอย่างผลงานหนึ่งที่หลายท่านอาจจะไม่ทราบคือโครงการวิจัยระบบการทำฟาร์ม ได้จัดการสัมมนานานาชาติ เรื่อง Rapid Rural Appraisal ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น Proceedings ของการสัมมนาครั้งนั้น ได้รับการCited ในงานวิจัยพัฒนาชนบทอย่างกว้างขวาง มหาวิทยาลัยหลายแห่งในสหรัฐอเมริกา กำหนดให้เป็นหนังสือที่นักศึกษาบางสาขา ต้องอ่าน อาจกล่าวสรุปความเจริญรุ่งเรืองของคณะเกษตรศาสตร์ฯด้านการวิจัยในสมัยนั้น ซึ่งผมเชื่อว่ามีส่วนสำคัญมากต่อความก้าวหน้าของการวิจัยด้านการเกษตรของพวกเราในปัจจุบัน ได้จากคำพูดของท่านอาจารย์กวีครั้งหนึ่งที่ยกคำโฆษณาของฝรั่งมาเปรียบกับคณะเกษตรศาสตร์ ของเราในช่วงนั้นว่า “We are number two but we try harder”

ข้อคิดปิดท้ายให้กับบุคลากร และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายในวาระครบรอบ 50 ปีของคณะฯ ก็มาจากโฆษณาเช่นกัน คือ “การได้แชมป์นั้นยาก แต่การรักษาแชมป์ยากยิ่งกว่า”

บทสัมภาษณ์ ทิศทางการวิจัยของคณะเกษตรศาสตร์

.วีระ ภาคอุทัย

มุมมองงานวิจัยและบทบาทหน้าที่ของคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จำเป็นต้องมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องของการผลิต และการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดของเกษตรกร ที่มองในแง่ของการเพิ่มผลผลิต เท่านั้น เพราะสินค้าหรือผลผลิตทางการเกษตรที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจำเป็นต้องมีคุณภาพ และมาตรฐานการผลิตที่สามารถแข่งขันกับสินค้าทางการเกษตรที่นำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้านได้ ซึ่งต้องทำควบคู่กันกับการเพิ่มประสิทธิภาพด้านบริหารการจัดการ เพื่อให้เกษตรกรสามารถยืนอยู่ได้ด้วยตนเองและยั่งยืน โดยอาจเป็นเรื่องการรวมตัวกันเป็นกลุ่มหรือสหกรณ์ ซึ่งที่ผ่านมายังไม่ประสบความสำเร็จ แต่ยังจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขต่อไป โดยอาศัยความร่วมมือกันจากทุกภาคส่วน เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนและก่อให้เกิดผลงานวิจัยที่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างชัดเจนมากขึ้น

มุมมองในเรื่องของงานวิจัยในอนาคตของคณะเกษตรไม่ว่าจะเป็นสาชาทาง พืช สัตว์ และประมง หรือทางด้านเศรษฐศาสตร์การเกษตร จะต้องมองภาพไปพร้อมๆกัน โดยนักวิจัยแต่ละคนจะต้องมีความบริสุทธิ์ใจ กล้าที่จะให้ความรู้และข้อมูลที่ตัวเองมีอยู่กับนักวิจัยท่านอื่นๆ ที่เห็นว่าสามารถนำไปใช้ก่อให้เกิดประโยชน์และเชื่อมโยงในการวิจัยได้ โดยนักวิจัยทุกคนต้องเป็นทั้งผู้ให้และรับไปพร้อมๆ กัน เพื่อนำข้อมูลที่ได้รับมาช่วยสานต่อในส่วนที่ขาด เวลามองจะได้ไปพร้อมๆกัน เพราะว่าการเกษตรเราไม่ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งแต่มันเชื่อมโยงกันไปหมด และนักวิจัยต้องช่วยกันลดช่องว่างให้มากที่สุดเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในระหว่างการทำวิจัย

มุมมองงานวิจัยต่อ AEC ตอนนี้ในเรื่องของการเปิด AEC มีความสำคัญมากเพราะมีความเกี่ยวข้องกับภาคเกษตรกรรม โดยประเทศไทยสามารถส่งสินค้าออกผ่านทางประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ เช่น ลาว เวียดนาม จีน เป็นต้น ซึ่งเป็นตลาดการส่งออกที่มีขนาดใหญ่มาก คณะเกษตรศาสตร์จำเป็นจะต้องคิดแล้วว่าควรจะมีส่วนร่วมสนับสนุนกับสังคมเกษตรในภาคอีสานต่อการเปิด AEC อย่างไร รวมถึงการตั้งโจทย์วิจัยและงานวิจัยต่างๆที่จะเกิดขึ้นก็จำเป็นต้องมีส่วนสนับสนุนเรื่องดังกล่าวเช่นเดียวกัน ปัจจุบันประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศที่เคยปิดประเทศนั้น ได้มีการเปิดประเทศเพิ่มมากขึ้น และสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติได้มากเช่น ลาว เวียดนาม และพม่า สิ่งที่ตามมาคือ ประเทศเหล่านั้นมีความต้องการอาหารเพิ่มมากขึ้นเพื่อตอบสนองต่อนักท่องเที่ยว ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสที่ดีของประเทศไทย โดยเฉพาะภาคอีสานที่มีพื้นที่เกษตรกรรมมากที่สุดของประเทศไทย ที่จะต้องทำการผลิตสินค้าหรืออาหารที่ดีมีคุณภาพ เพื่อส่งไปขายยังตลาดประเทศเพื่อนบ้านดังกล่าว

สุดท้าย เรื่องการเกษตรที่สำคัญคือ เรื่องการเปลี่ยนแปลงมุมมองความคิด จะต้องทำอย่างไรที่จะทำให้เกษตรกรรักในอาชีพเกษตรกรรม เพราะอาชีพนี้เป็นอาชีพที่มีอยู่ มีกิน มีความมั่นคง ทั้งในปัจจุบันและอนาคต มุมมองที่สำคัญคือเรื่องของการปรับวิธีคิดจาก “การทำการเกษตร” ให้เปลี่ยนมาเป็น “การทำธุรกิจการเกษตร” ซึ่งการจะปรับวิธีคิดตรงนี้ได้นั้น ต้องมีการวางแผนและการบริหารการจัดการ เรื่องของวิชาการ การผลิต การเงิน การตลาด และการเรียนรู้ เพื่อให้สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานของแต่ละจังหวัด สามารถเชื่อมโยงกับแผนพัฒนาจังหวัด และแผนพัฒนาระดับประเทศได้ขั้นตอนสุดท้าย คือการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสังคมเกษตร สังคมเกษตรจะต้องเป็นสังคมทีมีความมั่นคง มั่งคั่ง เพราะเป็นคนทำอาหารให้คนอื่นกิน โดยยึดหลักการที่ว่า “ถ้าคนทำอาหารยังยากจนอยู่ เขาจะทำอาหารให้มีคุณภาพได้อย่างไร” และถ้าเราสามารถแก้ไขปัญหาเกษตรภาคอีสานได้ เราจึงสามารถแก้ปัญหาประเทศไทยได้เช่นกัน