สัตวศาสตร์

เทคโนโลยีการผสมเทียมกวาง

ลักษณะเด่นของผลงาน

กวางป่าหรือกวางม้า (Cervus Unicolor Equines) เป็นกวางท้องถิ่นของไทยและแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นกวางขนาดใหญ่ที่สุด และมีอัตราการเจริญเติบโตที่ค่อนข้างดี ขณะเดียวกันประชากรกวางในป่าได้ถูกคุกคามและลดจำนวนลง เทคโนโลยีการทำน้ำเชื้อแบบแช่แข็งและการผสมเทียม จึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการอนุรักษ์และเพาะขยายพันธุ์กวาง คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ทำงานวิจัยร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ศึกษาวิจัยเทคโนโลยีการผลิตน้ำเชื้อแบบแช่แข็งในกวางป่า ระหว่างปี พ.ศ.2545-2547 เป็นครั้งแรกของประเทศไทย เป็นข้อมูลด้านเทคโนโลยีน้ำเชื้อกวางที่สำคัญของโลก โดยมีการศึกษาถึงคุณลักษณะน้ำเชื้อกวางป่าในรอบปี เทคนิคการผลิตน้ำเชื้อแบบแช่แข็ง การควบคุมวงรอบการเป็นสัดและการผสมเทียม สามารถให้อัตราการตั้งท้องจากการผสมเทียมด้วยน้ำเชื้อแบบแช่แข็งสูงถึงกว่า 60%

การนำไปใช้ประโยชน์ หรือผลกระทบที่ได้รับการถ่ายทอด

เป็นองค์ความรู้ที่ผู้สนใจ สามารถศึกษาข้อมูลและนำไปใช้ในการผสมพันธุ์กวาง เพื่อป้องกันการผสมเลือดชิดในกวางฝูงเล็ก การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางพันธุกรรมในอนาคต หากมีการพัฒนาเพื่อผลิตกวางม้าเชิงการค้า เทคโนโลยีนี้ได้รับการนำไปใช้ในการเพาะขยายกวางป่า ณ สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ โดยผลิตลูกกวางจากการผสมเทียม รวม 15 ตัว

     

โปรแกรมประเมินพันธุกรรมสัตว์ “BLUP”

ลักษณะเด่นของผลงาน

การประเมินพันธุกรรมสัตว์เศรษฐกิจในลักษณะต่างๆเพื่อช่วยในการคัดเลือกในปัจจุบันได้พัฒนาอย่างรวดเร็วและมีความแม่นยำมากขึ้น และช่วยให้มีพัฒนาการทางพันธุกรรมสัตว์เป็นไปได้อย่างรวดเร็ว คณะเกษตรศาตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นจึงได้พัฒนาโปรแกรมสำเร็จรูปสำหรับใช้ในการประเมินพันธุกรรมสัตว์ซึ่งเรียกว่า “BLUPF90” เป็นโปรแกรมที่รองรับการประเมินพันธุกรรมสัตว์ทั้งในโคนม โคเนื้อ สุกร และสัตว์ปีกอย่างครบถ้วน โปรแกรมดังกล่าวสามารถแสดงข้อมูลตัวเลขทางพันธุกรรม ค่าพารามิเตอร์ทางพันธุกรรม และความก้าวหน้าของการคัดเลือก ซึ่งง่ายต่อการแปลผลและสรุปผล สามารถนำไปใช้ในการคัดเลือกสัตว์และวางแผนการผสมพันธุ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังสามารถเปรียบเทียบและตรวจสอบถึงแหล่งพันธุกรรมสัตว์ที่มีความโดดเด่นเพื่อการอนุรักษ์ โปรแกรม BLUPF90 จึงนับเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นประโยชน์แก่วงการปศุสัตว์ของประเทศไทยและยังได้รับการยอมในระดับสากล

 

การนำไปใช้ประโยชน์ / หรือ ผลกระทบที่ได้รับการถ่ายทอด

โปรแกรม BLUPF90 ถูกนำไปใช้ประโยชน์และเป็นที่ยอมรับทั้งในระดับชาติและนานาชาติ การใช้ประโยชน์ในวงวิชาการของประเทศไทยอาทิ กรมปศุสัตว์ใช้ในการประเมินพันธุกรรมโคนม สุกร และสัตว์ปีก สำหรับในมหาวิทยาลัยต่างๆได้ใช้โปรแกรมดังกล่าวเพื่อประกอบการเรียนการสอนให้กับนักศึกษาที่เรียนรายวิชาการปรับปรุงพันธุ์สัตว์ ในบริษัทเอกชนได้ใช้ในการประเมินพันธุกรรมสัตว์ในฟาร์มของบริษัทตนเองเพื่อคัดเลือก และวางแผนพัฒนาต่อยอดพันธุกรรมที่ดียิ่งขึ้น ในแต่ละปีจะมีการจัดฝึกอบรมการใช้โปรแกรม BLUPF90 ให้กับบุคลากรทั้ง นักวิจัย อาจารย์ และผู้ที่สนใจ นอกจากนี้ในอนาคตโปรแกรม BLUPF90 จะมีการแปลคำสั่งเป็นภาษาต่างๆเพื่อประโยชน์ให้กับนักวิจัย และผู้สนใจในต่างประเทศเพื่อให้มีโอกาสได้ใช้ประโยชน์จากโปรแกรมดังกล่าว ผลลัพธ์ที่ได้จากการพัฒนาโปรแกรม BLUPF90 สามารถผลิตบุคคลากรที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านการปรับปรุงพันธุ์สัตว์ของประเทศ เกิดเป็นผลงานวิจัยที่ได้รับการยอมรับให้ตีพิมพ์ทั้งในวารสารระดับชาติและนานาชาติ  และสร้างพื้นฐานต้นน้ำ: สร้างแหล่งพันธุกรรมสัตว์พื้นฐาน  กลางน้ำ:การศึกษาและพัฒนาเพื่อสร้างความโดดเด่นให้กับพันธุกรรมเพื่อใช้ประโยชน์ในขั้นตอนต่อไป เช่น การศึกษายีนที่ควบคุมลักษณะสำคัญทางเศรษฐกิจต่างๆ เช่น ลักษณะการให้ปริมาณน้ำนมสูง ผลผลิตไข่สูง เนื้อแดงมากเป็นต้น และปลายน้ำ: การนำพันธุกรรมไปผลิตออกมาในรูปของผลผลิต และผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น น้ำเชื้อ ตัวอ่อน ตัวสัตว์  โปรแกรม BLUPF90 จึงเป็นประโยชน์แก่วงการปรับปรุงพันธุ์สัตว์ของประเทศไทยยิ่ง

                                 

นวัตกรรมไขมันเม็ดพลังงานสูงสำหรับโคนม

The Innovative of Granular Fat for Dairy Cattle Production

 

ลักษณะเด่นของผลงาน

ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตพืชน้ำมันที่สำคัญหลายชนิดทั้งจากน้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม และน้ำมันรำข้าว จึงเป็นโอกาสในการนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ได้อีกช่องทางหนึ่ง แต่การใช้ไขมันเหลวหรือในรูปน้ำมันมีข้อจำกัดการใช้ในโคนมโคเนื้อจะใช้ได้ไม่เกิน 3-4 % ในอาหารสูตรรวมทีเอ็มอาร์ เพราะจะรบกวนการย่อยอาหารของจุลินทรีย์ในกระเพาะหมัก การพัฒนาแปรรูปน้ำมันพืชให้เป็นไขมันเม็ดโดยใช้เทคนิคทาง Saponification  จะทำให้สัตว์สามารถใช้ไขมันได้เพิ่มขึ้นถึง 7% ในอาหารสูตรรวม โคนมจะให้กินอาหารลดลงแต่ให้น้ำนมเพิ่มขึ้น ไขมันน้ำนมเพิ่มขี้น ไขมันเม็ด มีข้อดีคือใช้งานง่าย เหมาะกับโคให้ผลผลิตน้ำนมสูงหรือโคที่อยู่ภายใต้ภาวะความเครียดสูง หรือโคที่คลอดลูกใหม่ สามารถผสมในอาหารหรือโรยให้กินเพิ่มได้ทันที สามารถผลิตจำหน่ายเชิงพานิชได้ ปัจจุบันได้มีการพัฒนาเป็นไขมันเม็ดที่มีคุณสมบัติแตกต่างกันตามวัตถุประสงค์การใช้งานต่อไปได้อีกหลายผลิตภัณฑ์

 

การนำไปใช้ประโยชน์

การวิจัยพัฒนาเทคนิคการผลิตไขมันเม็ดและการนำนำมาใช้ในโคนมนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติและบริษัทบางกอกเทค จำกัด เมื่อ 15 พฤษภาคม 2553 ในวงเงินวิจัย 700,000บาท ปัจจุบันได้อบรมถ่ายทอดเทคนิคการผลิตไขมันมันเม็ดให้แก่บริษัทเพื่อนำไปผลิตเชิงการค้าต่อไป และฝึกอบรมแนะนำการใช้ไขมันเม็ดในอาหารโคนมให้แก่สหกรณ์โคนมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือหลายแห่ง

ยีนโคทนร้อน: Physio- Protein-Genes

 

ลักษณะเด่นของผลงาน

เมื่อโคนมเผชิญกับภาวะเครียดจากความร้อนจะเกิดอะไรขึ้นบ้างและมีแนวทางแก้ไขอย่างไรเป็นคำถามสำคัญที่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ต้องการคำตอบ จึงมีการศึกษาให้เข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งในระดับสรีรวิทยา ระดับเซลล์ และระดับยีนของโคนม คาดหวังในการนำองค์ความรู้เหล่านี้สู่การสร้างสายพันธุ์โคนมทนร้อนที่สามารถเลี้ยงในสภาพภูมิอากาศร้อนชื้นและให้ผลผลิตน้ำนมดี             จากการศึกษาทางสรีรวิทยาพบว่า โคที่มีประสิทธิภาพในการขับเหงื่อดีจะมีความสามารถในการระบายความร้อนได้ดี ทำให้มีความสามารถในการทนร้อน

ในการศึกษาในระดับเซลล์พบว่า ในสภาพอุณหภูมิสูง หรือในภาวะที่โคเกิดความเครียดเนื่องจากความร้อน จะมีการสร้างโปรตีน Heat shock protein (HSP) และพบว่า Hsp72 เป็นโปรตีนที่สามารถบ่งชี้ถึงผลกระทบของความร้อนถึงระดับเซลล์ จากการศึกษาในระดับยีนของ Hsp72 ในโคนมโฮลสไตน์ พบว่า nucleotide sequence มี polymorphism ในบริเวณ 5’ flanking region ซึ่งมีความสัมพันธ์กับปริมาณการสร้าง Hsp72 และการรักษาอุณหภูมิร่างกาย และยังพบว่าค่าดัชนีอุณหภูมิและความชื้น (THI) วิกฤตของโคไม่ทนร้อน (80) จะมีค่าต่ำกว่าโคทนร้อน (87)  

 

การนำไปใช้ประโยชน์

องค์ความรู้จากการศึกษาวิจัยนี้ นำไปสู่การใช้ประโยชน์ได้ เช่น เพื่อลดความเสียหายจากความร้อนถึงระดับเซลล์ที่อาจส่งผลต่อผลผลิตโคนม บรรเทาได้โดยการเสริมศักยภาพการระบายความร้อนของโคนม เช่น การใช้พัดลมระบายอากาศเพื่อขับไล่ความชื้นในโรงเรือน การคัดเลือกโคนมที่มีลักษณะขนสั้นเรียบเพื่อให้ระบายความร้อนได้ดี รวมถึงการเลือกโคนมลูกผสมที่มีลักษณะกายวิภาคผิวหนังส่งเสริมการขับเหงื่อ

นอกจากนี้ การพบ polymorphism ที่ nucleotide sequence ของ Hsp72 สามารถนำไปสู่การศึกษาเพื่อให้ได้มาซึ่งยีนทนร้อน เพื่อนำไปสู่การเป็น biomarkers หรือ เพื่อการคัดเลือกและขยายพันธุ์โคนมทนร้อนของประเทศไทยต่อไป

โปรแกรมคำนวณสูตรอาหารโคนม KCF

 

ลักษณะเด่นของผลงาน

การเลี้ยงโคนมและการให้อาหารที่ถูกต้องยังพึ่งพานักวิชาการเป็นอย่างมากเพราะองค์ความรู้ด้านการให้อาหารและการจัดการฟาร์มยังมีจำกัด คณะเกษตรศาสตร์ได้ตระหนักถึงปัญหานี้ จึงได้พัฒนาโปรแกรมคำนวณสูตรอาหารโคนมระบบภาษาไทยได้สำเร็จเป็นครั้งแรกเรียกว่า: Khon Kaen Complete Feed (KCF) หรือKCF97 และยังได้พัฒนาให้มีขีดความสามารถมากขึ้นอีกหลายเป็นรุ่นอาทิ KCF 2000 , 2006 , 2011 ซึ่งมีทั้งรุ่นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โปรแกรมนี้มีจุดเด่นที่สามารถคำนวณสูตรอาหารโคนมได้อย่างรวดเร็ว และสามารถประเมินการนำไปใช้ประโยชน์ได้ของอาหารได้ และโปรแกรมจะคำนวณสูตรอาหารให้ได้ราคาต่ำสุด ซึ่งจะทำให้ประหยัดต้นทุน สามารถคำนวณเปรียบเทียบการสั่งซื้อวัตถุดิบอาหารที่ดีสุด ที่สำคัญโปรแกรมนี้ได้ถูกนำไปใช้คำนวณอาหารสูตรรวมในโคนม (Total Mix Ration, TMR) ซึ่งจะช่วยเปลี่ยนแปลงระบบการจัดการให้อาหารโคนมของประเทศไทยให้พัฒนาขึ้นอีกขั้นสู่การเป็นอุตสาหกรรมการเลี้ยงโคนมต่อไป

 

การนำไปใช้ประโยชน์ที่สำคัญ

โปรแกรม KCF ได้ใช้ในการฝึกอบรมเจ้าหน้ากรมปศุสัตว์ เจ้าหน้าที่ส่งเสริมองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย หน่วยงานฟาร์มเอกชนและสหกรณ์โคนมหลายแห่ง รวมทั้งใช้ฝึกอบรมให้แก่เจ้าหน้าที่และอาจารย์ด้านโคนมจากต่างประเทศเพื่อนำไปใช้ในประเทศของตนเอง ผู้สนใจสามารถดาว์โหลดโปรแกรมได้ที่ http://ag.kku.ac.th/virote

โปรมแกรมบริหารจัดการฟาร์มโคนม KDM

 

ลักษณะเด่นของผลงาน

การจัดการฟาร์มโคนม เป็นเรื่องใหญ่ที่จะทำให้ฟาร์มประสบผลสำเร็จในการจัดการฟาร์มหรือไม่ ขึ้นกับการบริหารจัดการข้อมูลฟาร์มให้สามารถนำมาใช้เป็นตัวชี้วัดการจัดการ จุดอ่อนจุดแข็งของฟาร์มโคนม เพื่อให้ง่ายขึ้นคณะเกษตรศาสตร์ได้จึงได้พัฒนาโปรแกรมจัดการฟาร์มโคนมมีชื่อเรียกว่า โปรแกรมจัดการฟาร์มโคนมหรือ  Khon Kaen Dairy Management, KDM 2000, 2011 เป็นโปรแกรมที่ออกแบบมาให้เก็บทึกเก็บข้อมูลรายวัน การจัดการฟาร์ม ข้อมูลประวัติโค การให้น้ำนม องค์ประกอบน้ำนม การเจ็บป่วยและการให้ยารักษา การสืบพันธุ์และการผสมเทียม รวมทั้งข้อมูลทางพันธุกรรม ทำให้การประมวลผลข้อมูล สามารถช่วยตัดสินใจบริหารทำงานฟาร์มรายวัน สามารถออกแบบรายงานประจำวัน ประจำเดือนได้ง่ายดาย รวมทั้งสามารถนำข้อมูลโคนมมาใช้ในการปรับปรุงพันธุกรรมโคนมได้

 

การนำไปใช้ประโยชน์ / หรือ ผลกระทบที่ได้รับการถ่ายทอด

โปรแกรม KDM ได้ใช้ในการฝึกอบรมเจ้าหน้ากรมปศุสัตว์ เจ้าหน้าที่ส่งเสริม หน่วยงานฟาร์มเอกชนนำไปใช้บริหารงานฟาร์มโคนม โปรแกรมสามารถนำมาใช้ในรูปแบบการบริหารงานเครือข่ายได้จะช่วยในการปรับปรุงพันธุ์กรรมโคนมทั้งเครือข่ายได้ หากมีการพัฒนาความร่วมมือขั้นต่อไป

นวัตกรรมโปรตีนยูเรียละลายช้าสำหรับโคนม

The Innovative of Slow Release Urea for Dairy Cattle Production

 

ลักษณะเด่นของผลงาน

แหล่งอาหารโปรตีนสำหรับสัตว์จัดเป็นแหล่งของโภชนะที่มีความสำคัญโดยเฉพาะในโคนม  เนื่องจากอาหารวัตถุดิบอาหารโปรตีนโดยทั่วไปมีราคาแพง ในขณะที่การใช้ยูเรียสามารถใช้เป็นแหล่งของไนโตรเจนในอาหารโคที่ดีได้ และมีราคาถูกทำให้ต้นทุนค่าอาหารลดลง การใช้ยูเรียมีข้อเสียที่จะมีการสลายตัวเปลี่ยนไปเป็นแอมโมเนียได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ลดประสิทธิภาพนำมาใช้งาน รวมทั้งหากใช้มากเกินไปจะเป็นสาเหตุทำให้โคตายได้ การพัฒนาวิธีการทำให้ยูเรียมีการละลายตัวช้าลงจะช่วยให้โคนมใช้ประโยชน์จากยูเรียในอาหารได้มากขึ้น จากการศึกษาเปรียบเทียบใช้ยูเรียผสมกับสื่อต่างๆได้แก่ ใช้แคลเซี่ยมคลอไรด์ ฟอร์มัลดีไฮด์ กรดแทนนิคที่ระดับต่างๆ พบว่าการใช้ยูเรียผสมแคลเซี่ยมคลอไรด์ สามารถทำให้อัตราการละลายของยูเรียช้าลงได้ดีสุดและประหยัดต้นทุนการผลิตที่สุด องค์ความรู้จากงานวิจัยนี้สามารถนำไปต่อยอดเชิงพานิชได้และ ผลงานวิจัยนี้อยู่ในระหว่างยื่นของจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา

 

การนำไปใช้ประโยชน์

การวิจัยเพื่อพัฒนาเทคนิคการผลิตโปรตีนยูเรียละลายช้า ได้ดำเนินการอบรมการใช้งานผ่านการสัมมนาเกษตรกร และผู้ประกอบการอาหารสัตว์ และมีการให้คำปรึกษาแก่กลุ่มสหกรณ์โคนมในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และการออกร้านแสดงผลงานทางวิชาการในงานวันโคนมแห่งชาติและงานวันเกษตรภาคอีสาน

       

 ก)   ยูเรีย                              ข) ยูเรีย-แคลเซี่ยมคลอไรด์                        ค) ยูเรียฟอร์มาดีไฮด์

ตารางความต้องการโภชนะในโคเนื้อ

 

ลักษณะเด่นของผลงาน

การส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อให้ประสบผลสำเร็จ ปัจจัยสำคัญอยู่ที่ต้องมีการจัดการให้อาหารที่ถูกต้อง ที่ผ่านมาการเลี้ยงโคเนื้อของประเทศไทยต้องพึ่งพาข้อมูลพื้นฐานจากต่างประเทศ โดยเฉพาะความต้องการอาหารและตารางคุณค่าทางอาหารของวัตุถดิบของประเทศไทยยังไม่มี  ผู้วิจัยคณะเกษตรศาสตร์ ได้ร่วมมือกับกรมปศุสัตว์และ The Japan International Research Center for Agricultural Sciences (JIRCAS) ทำการศึกษาวิจัยความต้องการอาหารพลังงานและโปรตีนในโคเนื้อของไทยจนเสร็จสมบูรณ์ ได้เป็น หนังสือคู่มือความต้องโภชนะในโคพื้นเมือง (WTSR. 2008. Nutrient Requirement of beef cattle in Thailand. The Working Committee of Thai Feeding Standard for Ruminant. Klungnanavithaya Press, Khon Kaen) หนังสือคู่มือนี้จะอธิบายถึงการคำนวณความต้องการอาหาร และค่าความต้องการโภชนะในโคที่สำคัญสามารถใช้เป็นเอกสารอ้างอิงการคำนวณความต้องการอาหารโคเนื้อที่มาก และสามารถจัดเป็นงานวิจัยชิ้นแรกของประเทศไทยด้านโคเนื้อที่เกิดจากความร่วมมือหลายหน่วยงานทำงานหลายปีจนสำเร็จ

 

การนำไปใช้ประโยชน์ / หรือ ผลกระทบที่ได้รับการถ่ายทอด

หนังสือความต้องการโภชนะในโคเนื้อของไทย ได้รับการนำไปฝึกอบรมถ่ายทอดให้นักวิชาการและนักวิจัยด้านนี้ได้นำข้อมูลไปใช้เพื่อคำนวณการจัดจ่ายอาหารให้ถูกต้อง หนังสือนี้ผู้สนใจสามารถติต่อขอได้ที่คณะเกษตรศาสตร์ต่อไป

การวิจัยปรับปรุงพันธุ์ไก่พื้นเมือง

Research and Development for Native Chicken

 

ลักษณะเด่นของผลงาน

การสร้างฝูงพ่อแม่พันธุ์ไก่พื้นเมืองของประเทศไทยนับว่าเป็นเรื่องที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาชนบทและความมั่นคงด้านอาหาร ศูนย์เครือข่ายวิจัยและพัฒนาด้านการปรับปรุงพันธุ์สัตว์ (ไก่พื้นเมือง) คณะเกษตรศาสตร์ ได้ดำเนินการวิจัยเพื่อพัฒนาพันธุ์ไก่พื้นเมือง ได้ผลสำเร็จในการปรับปรุงไก่พื้นเมืองพันธุ์แท้ 2 พันธุ์ คือ ไก่พื้นเมืองพันธุ์ประดู่หางดำ มข. 55 และ ไก่พื้นเมืองพันธุ์ชี KKU 12 ซึ่งมีลักษณะ “โตดี ไข่ดก อกกว้าง” และได้มีการวิจัยต่อเนื่องเพื่อสร้างพันธุ์ไก่ประดู่หางดำและพันธุ์ชีสายพันธุ์พัฒนา (developing line) จำนวน 4 สายพันธุ์ ที่มีความดีเด่นด้านการให้เนื้อ (meat line) และการให้ไข่ (egg line) ซึ่งได้พัฒนาถึงชั่วรุ่นที่ 4 นอกจากนี้ยังมีการสร้างสายไก่พื้นเมืองสายพันธุ์สังเคราะห์ (synthetic line) โดยการคัดเลือกจากลักษณะภายนอกไก่พื้นเมือง ที่มีความสม่ำเสมอของสีได้ 4 สายพันธุ์ ได้แก่ สร้อยเพชร สร้อยนิล ไข่มุกอีสาน และแก่นทอง ในกลุ่มนี้พัฒนาถึงชั่วรุ่นที่ 6 และปัจจุบันกำลังร่วมงานกับบริษัทเอกชนเพื่อพัฒนาในด้านการใช้ประโยชน์เชิงพานิชต่อไป

 

การนำไปใช้ประโยชน์

ไก่พื้นเมืองพันธุ์ประดู่หางดำ มข. 55 เพศผู้ ได้รับความสนใจจากบริษัทเอกชนนำไปผลิตเป็นไก่บ้านไทยจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ สำหรับไก่ชี KKU 12 ได้ส่งเสริมการเลี้ยงในระดับหลังบ้าน โดยใช้ระบบธนาคารไก่พื้นเมือง (Native Chicken Bank) นอกจากนี้ ได้ร่วมมือกับบริษัททดสอบพันธุ์ไก่สายพันธุ์สังเคราะห์ จำนวน 10 คู่ผสม

ผลงานวิจัยด้านการปรับปรุงพันธุ์ไก่พื้นเมือง ได้นำไปใช้ประโยชน์ในเชิงวิชาการ เชิงพาณิชย์ และเผยแพร่ต่อสาธารณะ มีผลงานด้านการตีพิมพ์ในวารสารทั้งในและต่างประเทศ  สามารถผลิตบัณฑิตระดับปริญญาโท-เอก ผ่านการจัดอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเลี้ยง การผสมเทียมไก่ และการทำน้ำเชื้อไก่พื้นเมืองแช่แข็ง รวมทั้งไก่ที่พัฒนาขึ้นได้มีเกษตรกรให้ความสนใจนำไปเลี้ยงอย่างกว้างขวางครอบคลุมเกือบทุกจังหวัดในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

การผลิตตัวอ่อนโคพื้นเมืองในห้องปฏิบัติการ

In vitro embryo production in Thai native cattle

 

ลักษณะเด่นของผลงาน

โคพื้นเมืองไทยเป็นสัตว์ที่ปรับตัวได้ดีกับสภาพแวดล้อมของประเทศ เลี้ยงง่าย ทนทานต่อสภาวะอากาศร้อน ตลอดจนโรคและแมลงในท้องถิ่น มีความสมบูรณ์พันธุ์สูง ผสมติดง่าย แต่จากการเปลี่ยนแปลงการผลิตเกษตรกรรมและพฤติกรรมการบริโภค มีผลให้ประชากรของโคพื้นเมืองพันธุ์แท้ ลดลงอย่างน่าเป็นห่วง การศึกษาวิจัยเพื่อผลิตตัวอ่อนโคจึงเป็นงานวิจัยที่สำคัญ ลักษณะงานวิจัยการผลิตตัวอ่อนโคพื้นเมืองในห้องปฏิบัติการ จากไข่ที่เจาะเก็บจากแม่โคมีชีวิตโดยเทคนิค OPU และผ่านการแช่แข็งแบบ vitrification มาทำการปฏิสนธิกับอสุจิแบบแช่แข็ง โดยศึกษาครอบคลุมในด้านการใช้ประโยชน์จากรูปแบบพัฒนาการของคลื่นฟอลลิเคิล และการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนในวงรอบการเป็นสัด  การกระตุ้นพัฒนาของฟอลลิเคิล และผลผลิตไอโอไซด์ที่ได้จากการพัฒนาของคลื่นฟอลลิเคิล  การป้องกันความเสียหายต่อตัวโอโอไซด์และตัวอ่อนจากการแช่แข็งร่วมกับ docetaxel ระดับ 0.05 µM การผลิตตัวอ่อนร่วมการกระตุ้นด้วยฮอร์โมน และเจาะเก็บด้วยเทคนิค OPU สามารถผลผลิตโอโอไซด์สูงสุด (20.28 ใบ/แม่) และสามารถผลิตตัวอ่อนระยะ blastocyst ได้ถึง 6.80 ตัวอ่อน/รอบ/แม่ งานวิจัยนี้กำลังอยู่ระหว่างการต่อยอดเพื่อเป็นการผลิตตัวอ่อนโคในเชิงพานิชต่อไป

 

การนำไปใช้ประโยชน์

เทคนิคการผลิตและการเก็บตัวอ่อนโคและการเก็บแช่แข็งรักษาไว้ เพื่อนำไปถ่ายฝากให้โคต่อไป ได้พัฒนาเป็นเทคนิคขั้นสูงที่สามารถทำให้เก็บรักษาและมีอัตราถ่ายฝากสูง มีอัตราชีวิตรอดสูง การถ่ายทอดองค์ความรู้ได้กระทำผ่านการฝึกอบรมทางวิชาการของสถานีทดลองและฝึกอบรมเกษตรกรรมร้อยเอ็ด มหาวิทยาลัยขอนแก่น ส่วนตัวอ่อนที่เก็บได้สามารถนำไปใช้ขยายการผลิตโคพื้นเมืองพันธุ์แท้หรือเพื่อการจำหน่ายต่อไป

          

เมลามีนในอาหารสัตว์

Melamine in Animal Feed

 

ชุดตรวจสอบเมลามีน (Test Kit) ในอาหารคนและสัตว์

ในปี 2550ที่ผ่านมาเกิดกระแสตื่นตัวของความเป็นพิษจากเมลามีนที่ปนเปื้อนในทั้งอาหารมนุษย์และสัตว์ เนื่องจากเมลามีนเป็นพลาสติกชนิดหนึ่งที่มีส่วนประกอบของฟอร์มาดีไฮต์หรือฟอร์มาลีน ที่นำมาใช้ผลิตพลาสติก เมื่อกินเข้าไประบบสืบพันธุ์ถูกทำลาย เกิดนิ่วในท่อปัสสาวะและไต เกิดมะเร็ง และตายในที่สุด โดยพบการปนเปื้อนในวัตถุดิบอาหารสัตว์จากจีนโดยเฉพาะโปรตีนจากพืช สหภาพยุโรป (European food Safety Authority : EFSA) ได้มีการกำหนดค่าในการบริโภคเมลามีนต่อวันของมนุษย์และสัตว์ ( toterable daily intake : TDI ) ในระดับไม่เกิน 0.5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมของน้ำหนักตัว  จึงมีการพัฒนาชุดตรวจสอบอย่างรวดเร็ว(Test Kit) ขึ้นมาใช้ในการทำการทดสอบเบื้องต้น (Screening Test) ในการตรวจสอบวัตถุดิบอาหาร และสามารถใช้เป็น screening test ได้ จากการทดสอบเบื้องต้นในการตรวจปนเปื้อนและปลอมปนเมลามีนและอนุพันธุ์เอมีนหรือยูเรียฟอร์มาลดีไฮด์ได้สำเร็จเมื่อเดือนพฤษภาคม 2550

 

การนำใช้จริงในสถานประกอบการ

ชุดทดสอบได้นำไปอบรมให้แก่โรงงานอาหารสัตว์ 65 โรงงานและโรงงานอาหารคน 5 บริษัท เมื่อเดือนกรกฏาคม 2550 โดยได้รับการสนับสนุนการอบรมจากสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย และสำนักงานมาตรฐานสินค้า (สมอ) ใช้ชุดตรวจสอบ ได้ผลการทดสอบกลับจาก 65 โรงงานว่า สามารถใช้เป็น screening test เบื้องต้นได้เป็นอย่างดี และมีการพัฒนาเพื่อใช้ใน ผลิตภัณฑ์นม น้ำปลา ซีอิ้วและเครื่องปรุงรสต่างๆ ขึ้นมาให้บุคคลทั่วไปใช้ทดสอบเบื้องต้นได้

 

 

การพัฒนาสายพันธุ์โคนมทนร้อน

Genetic Development of Heat-Tolerance Dairy Cattle

 

“โคนม KKU101” โคนมที่เหมาะสมกับการเลี้ยงในภูมิอากาศร้อนชื้น

สถานีทดลองและฝึกอบรมเกษตรกรรมร้อยเอ็ด คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เริ่มนำเข้าพันธุ์โคนมมาเลี้ยงครั้งแรกปีพศ. 2536 โดยทุนสนับสนุนจากโครงการ Danish  International Development  Agency DANIDA ประเทศเดนมาร์ค โคนมที่นำเข้ามาเลี้ยงรุ่นแรกเป็นโคลูกผสมสายเลือดพันธุ์โฮนสไตน์ฟรีเชี่ยน75%กับพันธุ์ซาฮิวาล25% โคนมลูกผสมรุ่นแรกๆมีลักษณะความเป็นโคนมที่ไม่แน่นอน มีสีลำตัวทั้งสีน้ำตาลถึงสีดำ แตะเก่ง น้ำหนักตัวน้อย(350กิโลกรัม) โครงสร้างเต้านมเล็ก รีดน้ำนมยาก ได้น้ำนมน้อย(4-5 กก./วัน) ระยะให้น้ำนมสั้น (200 กว่าวัน)  ต่อมาในปี พ.ศ. 2539 คณะเกษตรศาสตร์ได้พัฒนาเป็นฟาร์มโคนมและโรงงานแปรรูปน้ำนมแบบครบวงจร จนปี พ.ศ.2549 ได้มีการวางแผนงานวิจัยแบบบูรณาการในลักษณะชุดโครงการวิจัย มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อ พัฒนาสายพันธุ์โคนมและปรับปรุงอาหารโคนมให้เหมาะกับสภาพการเลี้ยงแบบเขตร้อนชื้น  ในปี พ.ศ.2555 ได้พัฒนามาเป็นกลุ่มวิจัย “โคนมทนร้อนมหาวิทยาลัยขอนแก่น” ซึ่งผลจากการวิจัยอย่างต่อเนื่อง สามารถพัฒนาได้เป็นสายพันธุ์โคนมทนร้อน ที่ให้ผลผลิตน้ำนมดี ทนร้อนและมีผสมติดง่าย ทั้งยังทราบและเข้าใจกลไกการทำงานสรีรวิทยาในระดับยีน การควบคุมการทำงานของร่างกายโค การต่อยอดงานวิจัยในอนาคตจะพัฒนาสร้างสายพันธุ์โคนมทนร้อนทั้งเพศผู้เพศเมีย และศึกษาองค์ความรู้เชิงลึกโดยเฉพาะกลไกการควบคุมความร้อน การควบคุมของยีน กลไกทางสรีรวิทยา ซึ่งจากพื้นฐานแนวคิดงานวิจัยโคนมนี้ ยังได้ก่อให้เกิดการขยายงานวิจัยไปยังสัตว์เศรษฐกิจชนิดอื่นๆต่อไปได้อีก

 

 การกระจายสายพันธุ์โคนมทนร้อนสู่เกษตรกร

โคนมทนร้อนมหาวิทยาลัยขอนแก่นหรือเรียกว่า โคนมสายพันธุ์ เคเคยู 101 (KKU101) ได้มีการจำหน่ายแพร่ขยายสู่เกษตรกรในเขตพื้นที่ต่างๆ ได้รับการยอมรับกว้างขวาง เนื่องจากโคนมมีการถ่ายทอดลักษณะที่แน่นอน มีสีขาว-ดำ น้ำหนักตัว 450-500 กิโลกรัม มีนิสัยเชื่อง เลี้ยงง่าย โคจะทนร้อนและทนต่อโรคไข้เห็บได้ดี ผสมติดง่าย ให้น้ำนมเฉลี่ย 12.5 กก./วัน  มีระยะเวลาให้น้ำนมนาน 300วัน

ภายใต้สภาพการเลี้ยงดูแบบทั่วไปโคจะมีความสามารถในการให้น้ำนม 4,500กิโลกรัม/ปี  มีระยะเวลาให้น้ำนมนานกว่า 300วัน มีความทนทานต่อสภาพอากาศร้อนชื้นได้ถึงระดับ 82 THI (Temperature – Humidity Index)  และหากนำไปเลี้ยงในที่มีสภาพอากาศเย็น มีการจัดการที่ดี โคจะตอบสนองต่อการกินอาหารและการให้น้ำนมที่สูงขึ้นถึง 15-20 กิโลกรัม/วันหรือ 5,500-6,500 กิโลกรัม/ปี  โคให้องค์ประกอบน้ำนมเฉลี่ยทั้งปีอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานสูง (ไขมัน 3.62 %, โปรตีน 2.99 %, เนื้อนมไม่รวมไขมัน 8.47 %, เนื้อนมรวม 12.0 % ) ลักษณะรูปร่างภายนอกโคนมทนร้อนมหาวิทยาลัยขอนแก่น จะมีลักษณะขนาดร่างกายสูงปานกลาง มีความลึกของลำตัวมาก มุมสะโพกเอียงเล็กน้อยและกระดูกเชิงกรานกว้างปานกลาง ขาหลังยืนค่อนข้างตรง มุมกีบแหลม เต้านมคู่หลังมีขนาดกว้างมาก การจัดแบ่งเต้านมด้านซ้ายและขวาชัดปานกลาง เต้านมวางตัวอยู่สูงปานกลาง มีความยาวของหัวนมปานกลาง คุณสมบัติเต้านมรวมและขารวมอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง มีคุณสมบัติการให้น้ำนมสูง และมีคุณสมบัติโดยรวมของการเป็นโคนมที่ดีที่สูง ส่วนโคเพศผู้ได้พัฒนาเป็นพ่อพันธุ์ที่มียีนทนร้อน รีดเก็บน้ำเชื้อเพื่อผลิตจำหน่ายเป็นน้ำเชื้อแช่แข็งให้กับเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียง ปัจจุบันมีผลงานวิจัยที่ได้ถ่ายทอดความรู้ทั้งในรูปแบบผลงานวิจัยตีพิมพ์ในระดับนานาชาติและระดับชาติมากกว่า 35 เรื่อง ผลิตบัณฑิตในระดับปริญญาโทและเอกมากกว่า 25 คน และยังได้เผยแพร่ผลงานผ่านการจัดนิทรรศการทางวิชาการ และการจัดฝึกอบรมให้กับเกษตรกรและผู้สนใจเป็นประจำทุกปี

 

ลักษณะเด่นอื่นๆ

  1. มียีนต้านทานโรคเต้านมอักเสบ(ตรวจโดยเทคนิควิธี PCR-RFLP และ Multi – primer PCR) จากการศึกษาพบว่าอัลลีลของยีน BoLA-DRB3.2 มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคเต้านมอักเสบ และมีรูปแบบตรงตามที่เคยรายงาน 16 รูป และเป็นอัลลีลพบใหม่อีก 19 รูปแบบ ซึ่งอัลลีลของยีน DRB3.2*1 มีความน่าจะเป็นในการนำมาใช้ทำนายการเกิดโรคเต้านมอักเสบได้ดี
  2. มีตำแหน่ง Markerการให้น้ำนมที่ดี (ตรวจโดยวิธีเทคนิค Microsatellite) จากการศึกษาลักษณะยีนที่ให้น้ำนมสูง (quantitative trait loci หรือ QTL) พบว่า บริเวณโครโมโซมคู่ที่ 3 ณ ตำแหน่ง ประมาณ 45 cM เป็นบริเวณที่อยู่ใกล้กับ Marker BM4129 จะมีอิทธิพลต่อปริมาณการให้น้ำนมในโค ซึ่งจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการนำไปใช้ในการคัดเลือกโคนมพันธุ์ดี
  3. มียีนทนร้อน (HSP70) ที่สัมพันธ์กับคุณภาพน้ำเชื้อในพ่อพันธุ์โคนม การศึกษาแสดงให้เห็นว่าในสภาพอากาศร้อนพ่อพันธุ์โคนมที่มีอัลลีลของยีน HSP70-2 (-G) จะควบคุมอุณหภูมิร่างกายได้ดีกว่าพ่อพันธุ์ที่ไม่มียีนดังกล่าว ยีนนี้พบได้มากทั้งในอสุจิ และน้ำกาม ดังนั้นยีน HSP70-2 (-G) สามารถใช้ในการคัดเลือกพ่อพันธุ์โคนมทนร้อนได้ดี
  4. การตรวจหายีนโรคไข้เห็บโดยวิธี Polymerase Chain Reaction (PCR) ซึ่งพบว่าตรวจได้แม่นยำมากและปริมาณของ DNA ของเชื้อต่ำสุดที่จะตรวจหาได้ ได้แก่ 0.1 นาโนกรัมต่อไมโครลิตรสำหรับตรวจหา A. maginale และ B. bigemina และ 0.7 นาโนกรัมต่อไมโครลิตรสำหรับ B. bovis

การปรับปรุงพันธุ์ไก่ไข่สายพันธุ์เล็กฮอร์น

White leghorn breeding

 

 27 ปี แห่งการปรับปรุงพันธุ์ไก่ไข่เล็กฮอร์นไทย

คณะเกษตรศาสตร์โดยภาควิชาสัตวศาตร์ในปี พศ.2520 ได้เริ่มปรับปรุงพันธุ์ไก่ไข่ เพื่อใช้เป็นต้นแบบสายพันธุ์ไก่ไข่ของประเทศไทย ได้คัดเลือกไก่พันธุ์เล็กฮอร์น (White leghorn) จนได้สายพันธุ์ไก่สีขาว ไข่สีขาว ไข่ดก เปลือกหนา ให้ไข่แดงสีเข้ม จัดเป็นไก่ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนพร้อมที่จะนำมาส่งเสริมการเลี้ยงต่อไป แต่เนื่องจากมีการระบาดของเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์รุนแรง ชนิด H5N1 ในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2547  ทำให้กรมปศุสัตว์มีนโยบายทำลายสัตว์ปีกทุกชนิดทั้งหมดที่เลี้ยงกันในเขตที่มีการระบาด จึงทำให้ไก่สายพันธุ์เล็กฮอน ถูกทำลายไปด้วย  จนถึงขณะนี้ภาควิชาสัตวศาสตร์ยังไม่ได้มีนโยบายรื้อฟื้นปรับปรุงสายพันธ็นี้ขึ้นมาอีกเลย

       

การใช้กากเอทานอลจากมันสำปะหลังในการขุนโคเนื้อ

Utilization of ethanol waste from Cassava for fattening beef cattle

 

กากเอทานอล ช่วยลดต้นทุนการขุนโค

การเลี้ยงโคเนื้อเป็นอาชีพทางการเกษตรที่สำคัญอย่างหนึ่ง แต่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อต้องประสบกับปัญหาราคาอาหารสัตว์แพงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนการผลิตโคเนื้อในปัจจุบันสูงขึ้น ดังนั้นการหาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่มีราคาถูกจึงเป็นทางเลือกที่จำเป็นในการนำลดต้นทุนการผลิตโค กาก   เอทานอลจากมันสำปะหลังที่มีการวิเคราะห์มีค่า pH อยู่ที่ 4.0  คุณค่าทางโภชนะความชื้น 75 – 80 %,  โปรตีนหยาบ 3.02 เปอร์เซ็นต์ ไขมัน 0.32 เปอร์เซ็นต์ เถ้า 52.76 เปอร์เซ็นต์ เยื่อใย NDF 81.24 เปอร์เซ็นต์ เยื่อใย ADF 70.09 เปอร์เซ็นต์ และพลังงานรวม 1.7 Mcal/kg ผู้วิจัยได้พัฒนาการใช้ในอาหารโคเนื้อที่มีค่าองค์ประกอบทางเคมีของสูตรอาหารผสมสำเร็จ มีค่าวัตถุแห้ง 93.17 – 94.87% โปรตีนหยาบ 10.54 – 13.70 % ไขมัน 4.88 – 5.64% เยื่อใย NDF 40.59 – 52.08% เยื่อใย ADF 27.52 – 42.81% และพลังงาน 3.8 – 3.3 Mcal/kg พบว่ากากเอทานอลจากมันสำปะหลังที่ได้จากโรงงานผลิตเอทานอลสามารถนำมาใช้ร่วมในสูตรอาหารสำหรับโคเนื้อได้ถึงระดับ 30 เปอร์เซ็นต์ โดยไม่มีผลต่อการผลิตแก๊สในกระเพาะหมักของโคเนื้อ

 

 การใช้ขุนโคเนื้อ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

การใช้กากกรดซิตริคในสัตว์เคี้ยวเอื้อง

Treated citric waste in Ruminant Production

 

การเพิ่มมูลค่ากากซิตริค โดยนำมาใช้เลี้ยงสัตว์

อุตสาหกรรมการผลิตกรดซิตริค เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบจากมันสำปะหลังเพื่อให้ได้กรดซิตริค โดยนำเอามันสำปะหลังผสมกับรำละเอียด จากนั้นเติมเชื้อ Aspergillus niger ในอัตราส่วน 10 สปอร์ต่อกรัม ที่ระดับความชื้นเริ่มต้น 60 เปอร์เซ็นต์ แล้วนำมาหมัก 114 ชั่วโมง จะได้ผลผลิตกรดซิตริค 11.5 เปอร์เซ็นต์ และมีกากสิ่งเหลือทิ้ง 69 เปอร์เซ็นต์ กากนี้มีสภาพเป็นกรด (pH 4) และมีความชื้น 77.6 เปอร์เซ็นต์ มีโปรตีนหยาบ 4 เปอร์เซ็นต์ NDF 86 เปอร์เซ็นต์ ADF 68.17 และ ADL 19.74 เปอร์เซ็นต์ของวัตถุแห้งตามลำดับ ดังนั้น การนำมาใช้จึงต้อง การตากแห้ง หรือการหมัก เพื่อลดกรดลดลง

จากพัฒนาการใช้งานพบว่า การใช้สิ่งเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมการผลิตกรดซิตริคหมักเอนไซม์ย่อยเยื่อใย เพื่อเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ในสูตรอาหารสำหรับสัตว์เคี้ยวเอื้องสามารถใช้ได้ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ในสูตรอาหารผสมสำเร็จ หรือสามารถใช้ได้ในสูตรอาหารข้น 14 เปอร์เซ็นต์ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อความเข้มข้นของพลังงานที่ใช้ประโยชน์ได้ในสูตรอาหาร และมีการเพิ่มขึ้นของค่าสัมประสิทธิ์การย่อยได้ของเยื่อใยทั้ง NDF และ ADF 10 เปอร์เซ็นต์ และไม่ส่งผลต่อกระบวนการหมักในกระเพาะรูเมนแต่หากใช้สูงขึ้นการกินได้ของโคเนื้อจะลดลง

 

การใช้เลี้ยงโคเนื้อ ให้ผลโตเร็ว

การพัฒนาการใช้งานในเบื้องต้นสามารถนำไปใช้เลี้ยงโคเนื้อ ส่วนการเลี้ยงในสัตว์อื่นอยู่ระหว่างศึกษาเพิ่มเติม

   

การใช้มันสำปะหลังในอาหารสัตว์

Cassava in Animal Feed

 

จุดเริ่มต้นของมันสำปะหลัง แหล่งพลังงานที่สำคัญในอาหารสัตว์

ในประเทศไทย เกษตรกรนิยมใช้มันสำปะหลังที่แปรรูปมาเป็นมันเส้นและมันอัดเม็ดในสูตรอาหารสัตว์ ซึ่งมันเส้นและมันอัดเม็ดมีราคาถูกกว่าวัตถุดิบอาหารประเภทเดียวกัน เช่น ปลายข้าว ข้าวโพด หรือการใช้มันสำปะหลังในการเลี้ยงสัตว์เพื่อลดต้นทุนการผลิตสัตว์ให้ต่ำลง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 ผู้วิจัยคณะเกษตรศาสตร์ ได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการ International Development Research Centre: IDRC ศึกษาวิจัยการใช้มันสำปะหลังเป็นอาหารสัตว์ ผลการศึกษาการใช้เป็นมันแห้งมีความปลอดภัยสูงสุด สามารถใช้ทดแทนแหล่งวัตถุดิบอาหารแป้งพลังงานได้ดีมาก และอีกรูปแบบที่ใช้ได้ผลดีเช่นกันคือ การใช้ในรูป มันหมักซึ่งเป็นการนำหัวมันสำปะหลังสดสับเป็นชิ้นแล้วนำมาหมักผ่านการหมักในสภาพปลอดก๊าซออกซิเจนในถุง หรือในบ่อหมัก เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 21 วัน จะมีกลิ่นหอมอมเปรี้ยว ความเป็นกรดด่าง ประมาณ 3.8 – 3.9 ค่าเฉลี่ยวัตถุแห้ง ไม่น้อยกว่า 34% โปรตีน ไม่น้อยกว่า 6.5% เยื่อใย NDF ประมาณ 35% เยื่อใย ADF ประมาณ 26% สามารถใช้เป็นอาหารแหล่งพลังงานในอาหารโคทดแทนมันเส้นได้เป็นอย่างดี

 

จากงานวิจัย สู่การถ่ายทอดการใช้มันสำปะหลังในอาหารสัตว์

ภายใต้การสนับสนุนของIDRC และทุนอุดหนุนการวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้มีการฝึกอบรมการใช้มันสำปะหลังเพื่อเป็นอาหารสัตว์ทั้งภาคเกษตรกร ภาคเอกชนและบริษัทต่างๆ รวมทั้งหน่วยงานของรัฐบาลอย่างมากมายจนนับได้ว่า ผู้วิจัยคณะเกษตรศาสตร์เป็นผู้นำการศึกษาและประยุกต์ในงานเป็นกลุ่มแรกของประเทศไทย

 

การใช้สมุนไพรไทยในอาหารสัตว์

The Use of Thai Herb in Animal Nutrition

 

ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ปลอดภัยด้วยสมุนไพรไทย

ความปลอดภัยของอาหารเป็นความกังวลของผู้บริโภคที่มีต่อความปลอดภัยของอาหารจากผลิตภัณฑ์เนื้อไก่  เนื้อสุกร  และไข่อันเนื่องมาจากสารตกค้างจากวัตถุที่เติมในอาหารสัตว์ โดยเฉพาะสารปฏิชีวนะเร่งการเติบโต  (antibiotic  growth  promoters,  AGPs)  ดังนั้นประเทศไทยในฐานะของผู้ส่งออกเนื้อไก่รายใหญ่ของโลกจึงต้องลดและในที่สุดต้องงดการเติม  AGPs  ในอาหารไก่และสุกร  หนึ่งในหลายๆ ทางเลือกที่มีศักยภาพในการป้องกันคือการใช้สมุนไพร  คณะเกษตรศาสรต์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงร่วมกันทำวิจัยเรื่อง “การศึกษา พัฒนาการผลิต การใช้สมุนไพรกระเทียม  ฟ้าทะลายโจร และขมิ้นชัน  ทดแทนสารด้านจุลชีพ สารสังเคราะห์ เติมอาหารไก่และสุกร” ซึ่งเป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณหลากหลาย เช่น  ขมิ้นชัน  มีโอสถสารในการบรรเทาอาการปวดท้อง ท้องอืด แน่น ลดการอักเสบ  ฟ้าทะลายโจรใช้แก้อาการท้องเสีย โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน  ส่วนกระเทียมเป็นยาขับลมในลำไส้ แก้กลาก เกลื้อน ช่วยย่อยอาหาร การดำเนินงานเริ่มตั้งแต่ปี 2545 จนถึง 2549 การทดสอบในไก่เนื้อ พบว่า การเสริมอาหารด้วย กระเทียมผง และฟ้าทะลายโจรผง  จะให้ผลดีกว่ายาปฎิขีวนะเร่งการเติบโต โดยวัดจากปริมาณน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น 0.32 – 2.86 %  การกินอาหารสูงกว่าประมาณ 7.15 – 8.21 %  อีกทั้งยังมีผลต่อการย่อย และใช้ประโยชน์โปรตีน พลังงาน และไขมัน ได้สูงกว่ากลุ่มยาปฎิชีวนะ  ในไก่ไข่  กลุ่มที่ได้รับอาหารเสริม ฟ้าทะลายโจรผง  กระเทียมผง และขมิ้นชันผง  ส่งผลทำให้ ไข่ดกกว่า และมีคุณภาพสูงกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับการเสริมสมุนไพร ส่วนในลูกสุกร ที่อยู่ระหว่าง 3 – 8 สัปดาห์ การให้สมุนไพรเดี่ยว ฟ้าทะลายโจร กระเทียมผง และขมิ้นชัน   สามารถทดแทนสารปฎิชีวนะ เร่งการเติบโตได้อย่างมีผลดี ในแง่อัตราการเจริญเติบโตได้มากถึง 36 – 47 % และประสิทธิภาพการกินอาการเพิ่ม 10.1 %  เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ใช้สารปฎิชีวนะ และสุกรเล็ก  ที่มีอายุตั้งแต่ 8 สัปดาห์ ที่มีน้ำหนักในช่วงระหว่าง 30 – 78 กก.  กินอาหารเสริมฟ้าทะลายโจร กระเทียมผง และขมิ้นชันผง  สุกรมีอัตราการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นสูงเทียบเท่ากับการใช้ยาปฎิชีวนะ จึงสรุปได้ว่า การใช้ สมุนไพรเดี่ยวสามารถทดแทนการใช้สมุนไพรผสม และยาปฎิชีวนะ ได้อย่างมีคุณภาพ และปลอดภัย (ข่าว นสพ. ไทยรัฐ ฉบับวันจันทร์ที่  9 เมษายน 2550)

การนำใช้สมุนไพรในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์

  • มีการนำสมุนไพรหรือสารสกัดสมุนไพรไปใช้อย่างแพร่หลาย และต่อยอดนวัตกรรมในการแปรรูปสมุนไพรไปใช้ในเชิงอุตสาหกรรม เช่น ฟ้าทะลายโจรในรูปแกรนูล การใช้แก่นตะวันเพื่อลดมลภาวะภายในฟาร์ม และตำรับยาสมุนไพรที่หลากหลายเพื่อใช้ในการรักษาโรคในสัตว์
  • การนำข้อมูลงานวิจัยไปใช้อ้างอิง (citation) ในงานวิจัยหรืออบรมต่างๆ ภายในประเทศ

นวัตกรรมและการถ่ายทอดความรู้การจัดการการสืบพันธุ์โคนม

Innovation and reproductive management transfer in dairy cows

รองศาสตราจารย์ ดร. ไชยณรงค์  นาวานุเคราะห์

ภาควิชาสัตวศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

 

การใช้โปรแกรมฮอร์โมนเพื่อเพิ่มอัตราการผสมติด

การจัดการให้โคนมได้รับการผสมพันธุ์ ผสมติดและตั้งท้องหลังจากคลอด โดยการใช้โปรแกรมฮอร์โมนเหนี่ยวนำการตกไข่ โดยไม่ต้องตรวจการเป็นสัด สามารถลดปัญหาวันท้องว่างที่ยาวนานในแม่โคหลังคลอด ใช้ฮอร์โมน 3 ชนิดร่วมกัน (รูปที่ 1) ให้อัตราการผสมติด 40% มีต้นทุนการใช้ฮอร์โมน 760 บาทต่อตัว

โปรแกรมเหนี่ยวนำการตกไข่และการผสมเทียมแบบกำหนดเวลาในโคนม

ถุงน้ำบนรังไข่ (Cystic ovaries)

ปัญหาการเกิดถุงน้ำบนรังไข่ ส่งผลให้ความสมบูรณ์พันธุ์ลดต่ำลง จำนวนวันท้องว่างและระยะห่างของการให้ลูกเพิ่มขึ้น ความไม่สมดุลของฮอร์โมนเป็นปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดถุงน้ำบนรังไข่ มักมีอาการเป็นสัดไม่สม่ำเสมอหรือไม่แสดงอาการเป็นสัด ถุงน้ำบนรังไข่มี 2 ชนิด คือ 1) ชนิดผนังบาง และ 2) ชนิดผนังหนา ดังนั้นการตรวจและวินิจฉัยชนิดของถุงน้ำบนรังไข่จึงมีประโยชน์ต่อการรักษาและทำให้ต้นทุนการรักษาต่ำกว่า

หากกรณีที่เกษตรกรไม่สามารถวินิจฉัยชนิดถุงน้ำบนรังไข่ได้ สามารถทำการรักษาโดยใช้ฮอร์โมนร่วมกัน ส่งผลให้ถุงน้ำมีขนาดเล็กลงและแสดงการเป็นสัด ต้นทุนการใช้ฮอร์โมนเพื่อรักษาถุงน้ำบนรังไข่ เท่ากับ 1,140 บาทต่อตัว (รูปที่ 3)

 

การถ่ายทอดความรู้เพื่อแก้ปัญหาความไม่สมบูรณ์พันธุ์ในโคนม

ปัจจุบันได้จัดอบรมและถ่ายทอดความรู้เพื่อแก้ปัญหาความไม่สมบูรณ์พันธุ์ในโคนมให้แก่สมาชิกเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในจังหวัดขอนแก่น อุดรธานี และสกลนคร เกษตรกรสามารถปฏิบัติได้เองและสะดวก ในการรักษาถุงน้ำบนรังไข่โดยการใช้ฮอร์โมนเริ่มจากการเตรียมชนิดของฮอร์โมนที่ใช้ตามปริมาณที่กำหนดโดยทำการเตรียมฮอร์โมนและฉีดเข้ากล้ามเนื้อขาหลังของโคนมตามปริมาณและวันเวลาที่กำหนด

โปรแกรมการใช้ฮอร์โมนรักษาถุงน้ำบนรังไข่

กิจกรรมการถ่ายทอดความรู้สู่กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม

 

การผลิตตัวอ่อนโคพื้นเมืองโดยวิธี vitrification

Vitrification and Thai Native Embryo Production

 

การอนุรักษ์พันธุ์โคพื้นเมืองไทยด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ

โคพื้นเมืองนับเป็นมรดกทางพันธุกรรมที่สำคัญของประเทศ เป็นสัตว์ที่สามารถดำรงชีวิต และสืบพันธุ์ ที่มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อม โรคและแมลงได้ดี ปัจจุบันโคพื้นเมืองพันธุ์แท้ได้ลดจำนวนลงอย่างมาก นับตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ศึกษาถึงเทคโนโลยีการแช่แข็งน้ำเชื้อโคพื้นเมืองเพื่อการอนุรักษ์และส่งเสริมการเลี้ยง และระหว่างปี 2553-2557 ได้ศึกษาถึงข้อมูลพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับคลื่นการพัฒนาของฟอลลิเคิลตามธรรมชาติในโคพื้นเมือง วิธีการกระตุ้นเพิ่มการพัฒนาฟอลลิเคิล เพิ่มระดับฮอร์โมน ได้องค์ความรู้ในการแช่แข็งเซลล์ไข่ ที่เจาะเก็บจากแม่โค และการผลิตโคอ่อนในห้องปฏิบัติการ (in vivo embryo production) นับเป็นองค์ความรู้ใหม่ที่สำคัญของประเทศและภูมิภาค ยังไม่มีผู้วิจัยท่านใดศึกษามาก่อน

 

แหล่งข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญของระบบสืบพันธุ์ในโคพื้นเมืองไทย

เป็นการสร้างองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับสรีวิทยาการสืบพันธุ์โคพื้นเมืองเพศเมีย ที่ผู้สนใจสามารถนำไปใช้ศึกษาเพิ่มเติมในโคพื้นเมือง ไทยและโคพื้นเมืองในเขตอุษาคเนย์ ผลงานวิจัยบางส่วนได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารระดับนานาชาติจำนวน 3 ผลงาน

เทคโนโลยีการผสมเทียมห่าน

Artificial Insemination in Goose

 

การผสมเทียมห่านครั้งแรกของประเทศไทย

ห่านเป็นสัตว์ปีกให้เนื้อ ที่มีความสามารถใช้ประโยชน์อาหารที่มีเยื่อใยสูงได้ดี ในด้านพฤติกรรมทางการสืบพันธุ์ ห่านเพศผู้จะดูแลฝูงเพศเมียเป็นขนาดเล็กๆ หรือมีแนวโน้มผสมพันธุ์กับแม่พันธุ์เพียง 2-3 ตัว จึงทำให้แม่ห่านอื่นๆไม่ได้รับการเหลียวแล ส่งผลอัตราการผสมของไข่มีเชื้อต่ำและต้องเลี้ยงพ่อพันธุ์จำนวนที่มาก มีผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ในปีพ.ศ.2525-2526 คณะเกษตรศาสตร์ จึงได้ทำการศึกษาถึงคุณภาพน้ำเชื้อในรอบปีของพ่อพันธุ์ห่าน ควบคู่กับการพัฒนาเทคนิคการผสมเทียมเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ทำให้ทราบถึงช่วงเวลาในรอบปีที่ห่านมีความสมบูรณ์พันธุ์สูง และพบว่าการผสมเทียมห่านให้อัตราการผสมติดสูง (90%) ซึ่งสูงกว่าการผสมพันธุ์ตามธรรมชาติ เทคโนโลยีการผสมเทียมห่านจึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญสามารถนำไปใช้แก้ไขปัญหาการผสมติดต่ำในฝูงห่านได้

การนำไปใช้ฝึกอบรมการผสมเทียมห่าน

มีการเผยแพร่ผลงานวิจัยใน Thai Journal of Agriculture Science และมีการฝึกอบรมให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงห่านเพื่อการค้า

การพัฒนาเทคนิคแช่แข็งน้ำเชื้อในไก่พื้นเมือง

Freezing semen development of Thai native chicken

 

เกษตรศาสตร์ มข. หน่วยงานแรกที่พัฒนาการแช่แข็งน้ำเชื้อไก่พื้นเมืองสำเร็จ

ไก่พื้นเมืองนับเป็นสัตว์เลี้ยงคู่บ้านคู่เมือง มีความสำคัญต่อความมั่นคงทางด้านอาหารและเศรษฐกิจครัวเรือนมาช้านาน การเก็บรักษาน้ำเชื้อแบบแช่แข็งและการผสมเทียมเป็นเทคโนโลยีการสืบพันธุ์ที่สำคัญ ทั้งเป็นเครื่องมือในการปรับปรุงพันธุ์ การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทางพันธุกรรม การใช้น้ำเชื้อแบบแช่แข็งในสัตว์ปีก ยังให้อัตราการผสมติดที่ไม่สูงนัก สำหรับในไก่อัตราการผสมติดต้องสูง 60% จากการผสมเทียม 2ครั้ง/สัปดาห์ นับตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้พัฒนาเทคนิคการเก็บรักษาน้ำเชื้อแบบแช่แข็งเพื่อการผสมเทียมไก่พื้นเมืองมาอย่างต่อเนื่อง สามารถผลิตน้ำเชื้อแช่แข็งโดยใช้อุปกรณ์แบบง่าย ลงทุนต่ำ มีการปรับปรุงสูตรน้ำยาเจือจางที่ให้ผลดี ปัจจุบันมีการผลิตใช้น้ำเชื้อแบบแช่แข็งในไก่พื้นเมืองที่ให้อัตราการผสมติดสูงถึง 90% จากการผสมเทียมสัปดาห์ละ 1 ครั้ง นับเป็นสถาบันทางวิชาการที่มีการผลิตองค์ความรู้ด้านการเก็บรักษาน้ำเชื้อแบบแช่แข็งในไก่พื้นเมืองสำเร็จเป็นหน่วยงานแรกของประเทศไทย

การนำใช้เพื่อการปรับปรุงพันธุ์ และอนุรักษ์พันธุกรรมไก่พื้นเมืองไทย

มีการเผยแพร่ความรู้ภายใต้ศูนย์เครือข่ายวิจัยและพัฒนาเพื่อการปรับปรุงพันธุ์สัตว์ (ไก่พื้นเมือง) ในรูปบทความวิจัย เอกสารและจัดการฝึกอบรมให้แก่เกษตรกรและนักวิชาการ โดยมีผู้ผ่านการอบรมแล้วจำนวนมาก

นวัตกรรมการศึกษาต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ของการผลิตน้ำนมดิบตามมาตรฐานฟาร์มโคนม

The Innovative of Study on Economic Costs of Raw Milk Production by Dairy Farm Standard

 

การลดต้นทุนการผลิตน้ำนมดิบด้วยมาตรฐานฟาร์มโคนม

เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมส่วนใหญ่ของประเทศไทยเป็นเกษตรกรรายย่อยมีการจัดการฟาร์มที่ยังไม่ผ่านมาตรฐาน ทำให้ต้นทุนการผลิตน้ำนมดิบสูง และคุณภาพของน้ำนมดิบไม่คงที่ เมื่อมีการเปิดเสรีการนำเข้าผลิตภัณฑ์นมอย่างเต็มรูปแบบ จะทำให้เกษตรกรได้รับผลกระทบในด้านการแข่งขันกับนมผงนำเข้าจากต่างประเทศเป็นอย่างมาก แนวทางหนึ่งที่ภาครัฐแนะนำในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว คือการยกระดับการจัดการฟาร์มของเกษตรกรเพื่อให้ได้มาตรฐานฟาร์มโคนมตามข้อกำหนดของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร ซึ่งจะส่งผลต่อต้นทุนการผลิต คุณภาพของน้ำนมดิบ และราคาน้ำนมดิบที่เกษตรกรได้รับ อย่างไรก็ตามในการยกระดับการจัดการฟาร์มเพื่อให้ได้มาตรฐานนั้น เกษตรกรรายย่อยไม่ให้ความสนใจเท่าที่ควรเพราะมีทัศนคติว่าเป็นสิ่งที่ยุ่งยากและต้องอาศัยเงินลงทุนในการปรับปรุงฟาร์มโคนมสูง

จากการศึกษาต้นทุนและผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ของการผลิตน้ำนมดิบตามลักษณะมาตรฐานฟาร์มโคนม ในพื้นที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ในปีการผลิต 2555/56 พบว่า โครงสร้างต้นทุนและผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ของการผลิตน้ำนมดิบของฟาร์มโคนมที่ได้รับการรับรองมาตรฐานฟาร์มและฟาร์มโคนมที่ไม่ได้รับการรับรองมาตรฐานฟาร์มมีลักษณะเหมือนกัน โดยต้นทุนส่วนใหญ่ของฟาร์มโคนม คือ ต้นทุนค่าอาหาร (55 และ 56%) รองลงมา คือ ค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินและโคนม (19 และ 16%) และค่าแรงงาน (10 และ 15%) ตามลำดับ เมื่อพิจารณาต้นทุนและผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์เฉลี่ยต่อกิโลกรัม พบว่า ฟาร์มโคนมที่ได้รับการรับรองมาตรฐานฟาร์มมีต้นทุนการผลิตน้ำนมดิบต่อกิโลกรัมต่ำกว่าฟาร์มโคนมที่ไม่ได้รับการรับรองมาตรฐานฟาร์ม ซึ่งเท่ากับ 14.47 และ 14.80 บาทต่อกิโลกรัม ตามลำดับ ขณะที่ฟาร์มโคนมที่ได้รับการรับรองมาตรฐานฟาร์มจะได้รับราคาน้ำนมดิบเฉลี่ยสูงกว่าฟาร์มโคนมที่ไม่ได้รับการรับรองมาตรฐานฟาร์มอีกด้วย ซึ่งเท่ากับ 16.74 และ 16.55 บาทต่อกิโลกรัม ตามลำดับ ดังนั้นฟาร์มโคนมที่ได้รับการรับรองมาตรฐานฟาร์มจึงมีกำไรสุทธิต่อกิโลกรัมสูงกว่าฟาร์มโคนมที่ไม่ได้รับการรับรองมาตรฐานฟาร์ม ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการยกระดับมาตรฐานฟาร์มโคนมของเกษตรกรทำให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพของน้ำนมดิบ

 

การใช้เป็นต้นแบบเพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรในการทำมาตรฐานฟาร์มโคนม

เผยแพร่ผลสรุปงานวิจัยเพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลด้านต้นทุนและผลตอบแทนการผลิตน้ำนมดิบตามมาตรฐานฟาร์ม ให้แก่สหกรณ์โคนมปากช่องจำกัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เพื่อใช้ในการส่งเสริมการปรับปรุงมาตรฐานฟาร์มโคนม โดยการจัดฝึกอบรมด้านการปรับปรุงมาตรฐานฟาร์มโคนมให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม และประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจให้เกษตรกรรายย่อยมีความมั่นใจว่าการปรับปรุงมาตรฐานฟาร์มโคนมทำให้ต้นทุนการผลิตน้ำนมดิบต่อกิโลกรัมต่ำลง และเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพของน้ำนมดิบ เพื่อรองรับการแข่งขันกับการเปิดเสรีการค้าผลิตภัณฑ์นม

 

การปรับปรุงพันธุ์โคพื้นเมืองไทย

Breeding in Thai Native Cattle

 

การพัฒนาสายพันธุ์โคพื้นเมืองไทยที่มีศักยภาพในตลาดโคขุน

โคพื้นเมืองไทยจะเป็นโคที่พบเห็นเลี้ยงกันได้ทั่วไป แต่จะมีการเลี้ยงกันมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ จัดว่าเป็นโคที่มีขนาดเล็ก เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ถือครองที่มีขนาดเล็ก ทำให้เลี้ยงกันอย่างแพร่หลาย คณะเกษตรศาสตร์ได้เริ่มปรับปรุงพันธุ์โคพื้นเมืองโดยการรวบรวมฝูงโคขึ้นในหมวดโคเนื้อตั้งแต่ปี พศ. 2521 และได้ดำเนินการคัดเลือกสายพันธุ์ให้มีลักษณะสีน้ำตาลเข้ม ข้อขาตรง ลำตัวได้สัดส่วนมีการสะสมชั้นกล้ามเนื้อมากขึ้น ไม่สะสมไขมัน เหมาะที่จะเลี้ยงขุนเพื่อให้ได้ปริมาณเนื้อแดงมาก เลี้ยงง่าย เชื่อง หากินเองได้เก่ง ทนร้อน ทนโรค ที่สำคัญให้ลูกดกและเลี้ยงลูกได้เก่ง

 

การใช้โคพื้นเมืองเพื่อการผลิตเนื้อโคขุนคุณภาพ

สายพันธุ์ที่ได้ได้มีการจำหน่ายให้เกษตรกรนำไปเลี้ยงดู และมีการส่งเสริมการเลี้ยงขุน ปัจจุบันมีการนำมาใช้ในโครงการโคขุนเพื่อให้ได้เนื้อแดง

 ระบบเกษตรผสมผสาน : การเลี้ยงไก่บนบ่อปลา

 

ต้นแบบการเลี้ยงไก่บนบ่อปลาเพื่อการเกษตรที่ยั่งยืน

การหาแนวทางให้เกษตรกรมีรายได้พอเพียงแก่การยังชีพ รวมถึงให้มีการนำกลับเศษเหลือการเกษตรโดยเฉพาะมูลไก่ไข่ให้สามารถนำมาเลี้ยงปลาได้ เป็นลดการสูญเสียและเพิ่มรายได้ คณะเกษตรศาสตร์โดยภาควิชาสัตวศาตร์ในปีพศ.2525 ได้พัฒนาองค์ความรู้ระบบการเกษตรแบบผสมผสาน ระหว่างการเลี้ยงไก่ไข่บนบ่อปลา จนได้องค์ความรู้ที่พอเพียงและได้มีการนำไปส่งเสริมการเลี้ยงกระจายกันออกไปทั่วภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงนับได้ว่า การพัฒนาต้นแบบการเลี้ยงเพื่อให้ได้สัดส่วนที่เหมาะสมระหว่างจำนวนไก่ไข่กับจำนวนปลาและการเก็บเกี่ยว เป็นองค์ความรู้ที่ได้เผยแพร่ในเวลาต่อมา

 

การนำใช้เพื่อการฝึกอบรมและเผยแพร่สู่เกษตรกร

การเผยแพร่องค์ความรู้ได้ทำผ่านกระบวนการฝึกอบรมให้แก่เจ้าหน้าที่ส่งเสริมของกรมปศุสัตว์ และการฝึกอบรมการเลี้ยงให้แก่เกษตรกรทั่วไป รวมทั้งมีการเผยแพร่ผ่านเอกสารส่งเสริมการเลี้ยง

   

    ระบบการปลูกพืชสลับทุ่งหญ้า

    Ley Farming Project

    การริเริ่มแนวระบบการปลูกพืชสลับทุ่งหญ้าเพื่อใช้เลี้ยงโคนม

    ในอดีตเกษตรกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือปลูกพืชผลทางการเกษตร โดยใช้ปุ๋ยคอกจากมูลสัตว์เป็นหลัก ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี เมื่อประมาณปี 2521 เริ่มมีการแนะนำให้ใช้ปุ๋ยเคมีและมีการใช้กันอย่างแพร่หลายจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตามปุ๋ยเคมีมีราคาสูงขึ้นเป็นลำดับ จนกลายเป็นต้นทุนที่สำคัญในการผลิตทางการเกษตร และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการขาดทุน ขณะเดียวกันคณะเกษตรศาสตร์ได้ทำโครงการโคนมบ้านซำจานนำร่องดำเนินการไประยะหนึ่งจนสำเร็จก้าวหน้าดีมาก ในปี พ.ศ. 2525 โครงการปลูกพืชสลับทุ่งหญ้า (Ley Farming) (สุจินต์ และคณะ, 2531) ภายใต้กรรมาธิการพัฒนาลุ่มน้ำโขงเกิดขึ้นโดยมีคณะเกษตรศาสตร์ เป็นหน่วยงานหลักได้ร่วมกันส่งเสริมเพื่อขยายผลการเลี้ยงโคนมไปยังนิคมสร้างตนเองเขื่อนอุบลรัตน์ที่ผัง 24, 25, 28 และ 29 การเลี้ยงโคนมที่นิคมสร้างตนเองนี้ อยู่บนฐานของการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างประหยัดและเรียบง่ายไม่ซับซ้อนจนได้รับการยอมรับในแนวคิดเป็น “การปลูกพืชสลับทุ่งหญ้า” คือ ปลูกพืชหลักร่วมกับการปลูกแปลงหญ้าร่วมผสมพืชอาหารสัตว์ตระกูลถั่ว หรือปลูกผสมกับพืชตระกูลหญ้าเพื่อใช้เลี้ยงโคนม เมื่อแปลงหญ้าถูกไถออกเพื่อสลับปลูกพืชไร่หลักเช่น มันสำปะหลัง ผลผลิตมันสำปะหลังจะได้เพิ่มสูงขึ้นประมาณสองเท่าโดยไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมี ในเงื่อนไขนี้เกษตรกรต้องหมุนเวียนพื้นที่ปลูกแปลงหญ้าสลับกับพืชไร่ การดำเนินการแบบนี้ได้มีหน่วยงานภายนอกนำไปใช้แพร่ขยายทั่วไป  ในช่วงที่ปลูกแปลงหญ้าผสมถั่ว จะสามารถนำผลผลิตมาใช้เป็นอาหารให้โคนมได้อย่างดี เนื่องจากพืชตระกูลถั่วอาหารสัตว์มีคุณภาพเชิงโภชนะสูง เพื่อความต่อเนื่องในการผลิตทั้งแปลงหญ้าและมันสำปะหลัง ก่อนที่จะไถกลบแปลงหญ้าเกษตรกรต้องปลูกแปลงหญ้าใหม่ในพื้นที่ถัดไป การสลับการปลูกแบบนี้เป็นวงจรต่อเนื่องไป

     

    การส่งเสริมให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมภาคอีสานปลูกแปลงพืชสลับทุ่งหญ้า

    โครงการนี้ได้ขยายพื้นที่ไปยังพื้นที่โคนมบ้านเขวา จังหวัดมหาสารคาม โดยใช้รูปแบบคล้ายกันและการดำเนินงานวิจัยควบคู่กับการให้ความรู้และการส่งเสริมเกษตกร เป็นการเสริมการขยายการเลี้ยงโคนมจากโครงการนำร่องด้วย (Ley Farming in Smallholder System in North-east Thailand 1993. Proceedings of the XVII International Grassland Congress. 8-21 February 1993) อย่างไรก็ตามแนวคิดการปลูกแปลงหญ้าและการปลูกพืชตระกูลถั่วเพื่อปรับปรุงดินได้ขยายตัวออกไปในเชิงปฏิบัติเช่นกัน ปัจจุบันการปลูกแปลงหญ้าไม่ใช่เรื่องยากสำหรับเกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีกต่อไป และมีเกษตรกรบางกลุ่มปลูกแปลงหญ้าและพืชตระกูลถั่วไว้จำหน่ายเป็นรายได้ ปัจจุบันพื้นที่ปลูกหญ้า/พืชอาหารสัตว์ ภาคอีสานมีมากถึง 570,157 ไร่

    ระบบการเลี้ยงโคนมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

    Northeast Dairy Cattle Production System

     

    ความร่วมมือกับภาครัฐเพื่อสร้างรากฐานการเลี้ยงโคนมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

    ในช่วงปีพ.ศ. 2507 จากความเชื่อดั่งเดิมที่ว่าสภาพแวดล้อมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไม่สามารถเลี้ยงโคนมเพื่อการผลิตน้ำนมได้ อันเนื่องจากพื้นที่ที่มีสภาพอากาศร้อนแล้ง พื้นดินขาดความอุดมสมบูรณ์ จนถึง ปี พ.ศ. 2522 ภายใต้ความร่วมมือของมหาวิทยาลัยขอนแก่น กรมปศุสัตว์ และสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร มีการจัดตั้งหมู่บ้านเลี้ยงโคนมขึ้นที่บ้านซำจาน อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น มหาวิทยาลัยขอนแก่นโดยภาควิชาสัตวศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์มีบทบาทในการอบรมถ่ายทอดความรู้ด้านการเลี้ยงโคนม การจัดหาอาหารข้น งานบริการด้านผสมเทียมและป้องกันสุขภาพโคนม ตลอดจนเป็นแหล่งรวบรวมและแปรรูปน้ำนมให้แก่กลุ่มผู้เลี้ยงโคนมบ้านซำจาน ต่อมาขยายเพิ่มอีก 3 กลุ่ม (กลุ่มโคนมอุบลรัตน์ กลุ่มโคนมบ้านห้วยไร่ กลุ่มโคนมบ้านเขวา) จากผลพวงที่คณะเกษตรศาสตร์เป็นแกนนำและสร้างหมู่บ้านตัวอย่างสาธิตการเลี้ยงโคนมขึ้นนี้ ทำให้หน่วยงานรัฐและหน่วยงานเอกชนมองเห็นโอกาสและความเป็นไปได้ในการเลี้ยงโคนมในภาคอีสานเกิดขึ้นได้ โดยในปีพ.ศ. 2534 มีกลุ่มเกษตกรรายย่อยผู้เลี้ยงโคนมเกิดขึ้นถึง 16 กลุ่ม มีโคนมรวม 7,971 ตัว ผลผลิตน้ำนม 4,700 ตันต่อปี

    คณะเกษตรศาสตร์ดำเนินงานมิได้หยุดนิ่ง จนในปีพ.ศ.2536 คณะฯได้พัฒนาพื้นที่สถานีทดลองและฝึกอบรมเกษตรศาสตร์จังหวัดร้อยเอ็ด และได้จัดสร้างฝูงโคนมของคณะเกษตรศาสตร์ขึ้นเป็นฝูงแรกจำนวน 30 ตัว โดยความร่วมมือกับสถานฑูตรัฐบาลประเทศเดนมาร์ค (โครงการ Danish  International Development Agency; DANIDA) เพื่อเป็นศูนย์สาธิตและฝึกอบรมการเลี้ยงโคนม ทำให้มีการศึกษาวิจัยและผลิตบัณฑิตด้านนี้อย่างเข้มข้นในตลอด 20 ปีของแผนพัฒนาที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน จนได้สายพันธุ์โคนมทนร้อนมหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือเรียกว่า โคนมทนร้อนร้อยเอ็ดฟรีเชี่ยน (KKU101) ที่เป็นสายพันธุ์โคนมที่ปรับตัวได้ดีมากกับสถาพอากาศร้อนชื้น ทนร้อน ทนโรคไข้เห็บ ให้ผลผลิตน้ำนมสูงถึง 4,500 กิโลกรัมต่อปี

    ก้าวล่วงถึงปีปัจจุบัน พ.ศ. 2556 ได้ประจักษ์ว่าการเลี้ยงโคนมในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ไม่รวมข้อมูลของจังหวัดนครราชสีมา) ได้เติบโตขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง โดยมีประชากรโคนมทั้งสิ้นประมาณ 49,857 ตัว เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมประมาณ 1,300 ครอบครัว มีสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมจำนวน 28 แห่ง มีผลผลิตน้ำนมได้ 42,053 ตันต่อปี พัฒนาการการเลี้ยงโคนมนี้ได้ก่อเกิดผลดีต่อสภาพเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนสภาวะโภชนาการของเยาวชน การจุดประกายไฟการเลี้ยงโคนมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือขึ้น โดยคณะเกษตรศาสตร์ เป็นผู้มีส่วนร่วมอย่างแข่งขัน ต่อเนื่องอย่างยาวนาน ได้ลบล้างความเชื่อที่ว่า “ภาคตะวันออกเฉียงเหนือไม่สามารถเลี้ยงโคนมเพื่อการผลิตน้ำนมได้”ลงอย่างสิ้นเชิง แต่กลับได้สายพันธุ์โคนมทนร้อน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ขึ้นเป็นสัญญลักษณ์ทดแทน ซึ่งในอนาคตคาดว่าจะมีบทบาทสูงต่อการพัฒนาโคนมในเขตภูมิภาคอาเซียน

     

    การส่งเสริมการเลี้ยงโคนมให้เกษตรกรผู้สนใจ

    การเลี้ยงโคนมและการบริโภคน้ำนมโคไม่ใช่วิถีหรือวัฒนธรรมเดิมที่มีมาของประชากรส่วนใหญ่ที่เป็นคนท้องถิ่นของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การส่งเสริมการเลี้ยงโคนมครั้งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(ไม่รวมข้อมูลของจังหวัดนครราชสีมา) จะเริ่มจากโครงการทดลองนำร่องคณะเกษตรศาสตร์ โดยเริ่มที่บ้านซำจาน อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น จำนวนเริ่มแรกมี 15 ครัวเรือน สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรเป็นฝ่ายจัดหาที่ดินสำหรับเกษตรกร ส่วนทาง อ.ส.ค. รับผิดชอบเรื่องการแปรรูปน้ำนมพาสเจอร์ไรส์ การตลาดและจ่ายค่าน้ำนมดิบให้เกษตรกรผ่านบริษัทคืออินเตอร์แม็คนั่ม เพื่อจัดจำหน่าย

    ต่อมามีกลุ่มผู้เลี้ยงโคนมของเกษตรกร บ้านห้วยไร่ จังหวัดชัยภูมิ ได้เริ่มก่อตัวขึ้นเอง โดยมีผู้นำที่เข้มแข็งเป็นครูใหญ่ของโรงเรียนในหมู่บ้านนั้น อย่างไรก็ตามเกษตรกรกลุ่มนี้ประสบปัญหาทั้งในด้านการเลี้ยงและการตลาด จึงได้ประสานขอความช่วยเหลือมายังคณะเกษตรศาสตร์ให้เข้าไปมีส่วนช่วยส่งเสริมและแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิด

    ภาควิชาสัตวศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นอกจากได้ดำเนินภารกิจตามบทบาทหน้าที่แล้วยังได้ สร้างกระบวนการอบรมจนได้คู่มือการถ่ายทอดเทคโนโลยีหลายเล่ม(ข้อมูลตีพิมพ์ระดับนานชาติ22 เรื่องและระดับชาติ 15เรื่อง) งานวิจัยที่สำคัญงานหนึ่งที่นำไปสู่รูปแบบการขยายงานการส่งเสริมและได้ตีพิมพ์ใน Prince Songkla University, 1988. Farming Systems Research and Development in Thailand: Illustrated Methodological Considerations and Recent Advances. Haad Yai, Thailand: The Thai: French Farming Systems Research และความรู้ดังกล่าวไม่ได้ใช้เฉพาะในการขยายผลเลี้ยงโคนมเท่านั้น องค์ความรู้ที่สำคัญอย่างหนึ่งคือการวิจัยที่เรียกว่า “งานถ่ายทอดความรู้แบบเกษตรกรสู่เกษตรกร(Farmer to Farmer)” (Suchint et al., 1988) งานวิจัยนี้เกิดขึ้นเพราะนักวิชาการได้เรียนรู้จากการทำงานกับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมว่า หากได้เปิดโอกาสให้เกษตรกรได้พบปะพูดคุยกันเองแล้วเขาจะเข้าใจกันเอง ในเรื่องการเลี้ยงโคนมมากกว่านักวิชาการถ่ายทอดให้ ทั้งนี้เกษตรกรแต่ละรายต่างมีประสบการณ์และกิจกรรมต่างกัน จึงมีการพัฒนาการแก้ปัญหาได้ที่มีมุมมองต่างกันและการสื่อสารระหว่างเกษตรกรทำได้ดีกว่า จึงเป็นเสมือนเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไม่ใช่เฉพาะระหว่างเกษตกรเท่านั้น แต่รวมถึงนักวิชาการด้วย ทำให้เกิดการขยายผลไม่ว่าจะเป็นด้านเทคนิคหรือการจัดการและในที่สุดงานวิจัยนี้ได้ทำให้เกิดรูปแบบการขยายผลขึ้นที่มีการใช้กันทั่วไป ผลงานนี้ได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือในหัวข้อเรื่อง Farmer-to-Farmer workshops on small holder dairy cow raising in three villages in Northeast Thailand 1991. In Joining Farmers Experiment. Edited by B. Havorkort, J. van dor Kamp and A. Watera-Bayer. Intermediate Technology Publications. Southampton Row, London WC1B 4 HH, UK.

    ภายหลังจากการส่งเสริมการเลี้ยงโคนมนำร่องสำเร็จด้วยดีดังการเลี้ยงโคนมที่หมู่บ้านซำจาน จังหวัดขอนแก่น ต่อมาได้มีหน่วยงานต่างๆ ของรัฐและเอกชนได้ดำเนิ