พันธุ์พืชเพื่อการเกษตรที่ยั่งยืน

เนื่องจากประชากรโลกมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ทำให้ความต้องการอาหาร อีกทั้งผู้บริโภคยังให้ความสำคัญในเรื่องการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ การพัฒนาพืชอาหารให้เป็นพืชอาหารเพื่อสุขภาพและอาหารเสริมสุขภาพ เพื่อให้สอดคล้องกับกระแสความต้องการของผู้บริโภค จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น การปรับปรุงพันธุ์พืชเพื่อให้เป็นอาหารสุขภาพ เป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มความหลากหลายของอาหารให้กับผู้บริโภค และเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตร การวิจัยเพื่อพัฒนาพืชพันธุ์ใหม่ที่เป็นงานต่อเนื่องจากงานที่ได้ทำมาก่อนแล้วของมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยเน้นพัฒนาให้ได้พันธุ์พืชพันธุ์ใหม่ ที่มีสารพฤกษเคมีที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพเพิ่มขึ้น และในปัจจุบันงานทางด้านการพัฒนาพันธุ์พืชเพื่อเป็นอาหารสุขภาพยังมีความจำเป็น ทั้งนี้ความต่อเนื่องของการวิจัยเพื่อพัฒนาพันธุ์พืชจะทำให้เกิดพันธุ์ใหม่ ๆ เพื่อใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน

จากการรวบรวมและสรุปผลการดำเนินงานในปี 2558 – ปัจจุบัน (ก.ย. 2563)  สามารถสรุปได้ดังนี้ 1. ตีพิมพ์ผลงานและเผยแพร่ผลงานในระดับนานาชาติ จำนวน 82 เรื่อง 2. ตีพิมพ์ระดับชาติจำนวน 38 เรื่อง 3. ทรัพย์สินทางปัญญา อนุสิทธิบัตร/การขึ้นทะเบียนพันธุ์พืช ข้าวโพด 11 พันธุ์ พริก 5 พันธุ์ มะเขือเทศ 8 พันธุ์  4. จำนวนเงินทุนภายนอกที่ได้รับการสนับสนุนที่เกิดจากการวิจัย จำนวน 78.39 ล้านบาท 5. จำนวนบัณฑิตที่จบการศึกษา ปริญญาเอก 12 คน ระดับปริญญาโท 31 คน ผลการดำเนินงานการปรับปรุงพันธุ์พืช 8 โครงการ จำนวน 12 ชนิดพืช  ได้มีการดำเนินการรวบรวมและทดสอบพันธุ์เพื่อใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์ ได้มีการสร้างสายพันธุ์แท้และการคัดเลือกพันธุ์ลูกผสม พร้อมทั้งขึ้นทะเบียนรับรองพันธุ์พืชใหม่ นอกจากนั้นได้มีการนำเทคโนโลยีดีเอ็นเอมาช่วยใช้ในการจำแนกความหลากหลายทางพันธุกรรม