คณะเกษตรศาสตร์ จัดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การทำตลาดออนไลน์ผ้าไหม” ณ ตำบลกุดเพียขอม อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น ขับเคลื่อนโครงการ U2T เพื่อให้เกษตรกรสามารถเปิดเพจจำหน่ายผ้าไหมแบบออนไลน์ได้ด้วยตนเอง และช่วยเพิ่มช่องทางในการจำหน่ายสินค้า OTOP ของชุมชน เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2564 คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การทำตลาดออนไลน์ผ้าไหม” ภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ ตำบลกุดเพียขอม (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ) ณ พื้นที่ตำบลกุดเพียขอม อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น โดยมี รศ.ดร.กิริยา สังข์ทองวิเศษ หัวหน้าโครงการ พร้อมคณะทำงาน ทั้งนี้ การฝึกอบรมได้บรรยายเรื่อง 1) พื้นฐานการออกแบบสื่อดิจิทัล 2) เทคนิคการถ่ายภาพผลิตภัณฑ์ และ 3) การสร้างช่องทางการสื่อสารออนไลน์ โดย นายไพศาล เอกวัฒน์ สังกัดสาขาวิชาส่งเสริมการเกษตรและเกษตรเชิงระบบ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นวิทยากร มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มองค์ความรู้เรื่องการเปิดเพจจำหน่ายสินค้า OTOP ของชุมชน เพิ่มทักษะการออกแบบสื่อดิจิทัลและการถ่ายภาพผลิตภัณฑ์ โครงการฝึกอบรมเรื่อง “การทำตลาดออนไลน์ผ้าไหม” เกิดขึ้นเนื่องจากผลการสำรวจของคณะทำงาน พบว่า พื้นที่ตำบลกุดเพียขอม อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น เป็นตำบลเกษตรกรรม ได้แก่ การทำนา การทำหัตถกรรมผ้าไหม การประมงน้ำน้อย และการเลี้ยงโค ลักษณะของพื้นที่ส่วนใหญ่ประสบภัยแล้ง ไม่มีน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติและมีจำนวนแหล่งน้ำธรรมชาติน้อย ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่มีอาชีพหัตถกรรมผ้าไหมและการเลี้ยงโคเพื่อจำหน่ายเป็นหลัก ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ทำให้เกษตรกรมีความจำเป็นและสนใจพัฒนาทักษะการจำหน่ายผ้าไหมในช่องทางอื่นๆ แบบออนไลน์ เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 รักษาระดับรายได้ของครัวเรือนและเกษตรกรสามารถต่อยอดองค์ความรู้ดังกล่าวในการจำหน่ายสินค้าหรือผลผลิตทางการเกษตรอื่นๆ ต่อไป โครงการฝึกอบรมนี้ ดำเนินการ ณ ศาลากลางบ้านกุดเพียขอมเหนือ หมู่ 2 ตำบลกุดเพียขอม อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น ซึ่งได้รับความร่วมมือจากผู้นำชุมชน องค์การบริหารส่วนตำบลกุดเพียขอม กำนันตำบลกุดเพียขอม และผู้นำหมู่บ้านในการประชาสัมพันธ์และประสานงานเป็นอย่างดียิ่ง ทำมีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมจาก 7 หมู่บ้าน จำนวน 70 คน ในการดำเนินการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมการฝึกอบรมให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ทั้งนี้ คณะทำงานได้จัดทีมงานผู้รับผิดชอบในพื้นที่ ติดตามการนำองค์ความรู้เรื่องการออกแบบสื่อดิจิทัล การถ่ายภาพผลิตภัณฑ์ และการเปิดเพจจำหน่ายสินค้าแบบออนไลน์ รวมถึงปัญหาหรืออุปสรรคที่พบในระหว่างการดำเนินงาน เพื่อจัดทำแผนการส่งเสริมและพัฒนาการใช้สื่อดิจิทัล เพื่อช่วยให้คนในชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น สอดรับกับเป้าหมายของโครงการ U2T ได้ในลำดับต่อไป+5