value creation and academic service

คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ก่อตั้ง มายาวนานมากกว่า 50 ปี ตลอดเวลาที่ผ่านมา คณะฯ มีปณิธานและวิสัยทัศน์ของการเป็นที่พึ่งของอีสานและสังคม โดยมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตร และถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ตอบสนองกับปัญหาและความต้องการของเกษตรกร หน่วยงาน และองค์กรในภูมิภาค เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาการเกษตร โดยมีเป้าหมายให้เกษตรกรในภูมิภาคมีรายได้เพิ่มขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
คณะฯ มีงานวิจัยในหลากหลายด้าน ได้แก่ ด้านพืช เช่น การปรับปรุงพันธุ์พืช และพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตพืช เพื่อพัฒนาพันธุ์พืชที่ให้ผลผลิตสูงเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของภาคอีสาน และพัฒนาการเขตกรรมที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่เพื่อยกระดับผลผลิต และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกร เช่น การจัดการปุ๋ย การจัดการน้ำ เป็นต้น การวิจัยระบบการปลูกพืชที่ส่งเสริมการเติบโตพืชและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อเพิ่มรายได้และลดความเสี่ยงของเกษตรกร และในปัจจุบันคณะฯ ได้เพิ่มการพัฒนาเทคโนโลยีเกษตรแม่นยำในระบบการผลิตทั้งในสภาพโรงเรือน และการปรับปรุงพันธุ์พืชและผลิตพืชเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ เช่น การผลิตพริกที่มีสารไคแซปซินสูง การผลิตข้าวพื้นเมืองที่มีใยอาหารสูง เป็นต้น ด้านอารักขาพืช ประกอบด้วย การควบคุมโรคและแมลงศัตรูพืชโดยชีววิธี และการการใช้สารเคมีที่ถูกต้อง เพื่อนำไปสู่การผลิตทางการเกษตรที่ปลอดภัย รวมทั้ง การผลิตอาหารเพื่ออนาคต เช่น การผลิตและใช้ประโยชน์แมลงกินได้ เป็นต้น ด้านสัตว์ คณะฯ ได้พัฒนาพันธุ์ไก่พื้นเมืองที่มีอัตราการเจริญเติบโตสูง และมีโภชนาการสูงและตอบสนองกับกลุ่มผู้บริโภคสำหรับเกษตรกร เช่น ไก่พันธุ์ KKU1 หรือไก่ 3 Low การพัฒนาการผลิตโคนมในภาคอีสานและอาหารสัตว์สำหรับโคเนื้อคุณภาพสูง ในด้านประมงคณะฯ ได้พัฒนาเทคโนโลยีการประมงน้ำน้อยเพื่อตอบสนองกับข้อจำกัดในเรื่องน้ำสำหรับการประมงในภูมิภาค ด้านทรัพยากรที่ดิน คณะฯ ได้พัฒนาแนวทางการจัดการ ฟื้นฟู และปรับปรุงดินปัญหาต่างๆ และการใช้ไส้เดือนดินเพื่อผลิตอินทรียวัตถุในระบบการผลิตพืชอินทรีย์และการหมุนเวียนเศษเหลือทิ้งทางการเกษตรมาเป็นปุ๋ยอินทรีย์
คณะฯ ได้กำหนดแนวทางในการนำความรู้จากการวิจัยข้างต้น ถ่ายทอดสู่สังคมและชุมชนในหลายช่องทาง ได้แก่ งานเกษตรภาคอีสาน ที่จัดเป็นประจำทุกปี การอบรมถ่ายทอดความรู้โดยตรงให้ชุมชนและเกษตรกรที่กำลังประสบปัญหาหรือบุคคลที่สนใจผ่านกิจกรรมบริการวิชาการของคณะฯ และสาขาวิชา การดำเนินโครงการวิจัยที่นักวิจัยทำงานร่วมกับเกษตรกรโดยตรง และผ่านการทำงานโครงการพัฒนาชุมชนต่างๆ ร่วมกับมหาวิทยาลัยและหน่วยงานภายนอกอื่นๆ เช่น โครงการแก้ไขปัญหาความยากจนตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง และโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ หรือมหาวิทยาสู่ตำบล และโครงการปิดทองหลังพระ เป็นต้น